กรมการปกครอง เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม รู้จักการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน โดยอาศัยหลักการทรงงานและการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในการปฏิบัติราชการ เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งในพื้นที่

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า กรมการปกครอง ได้ดำเนินโครงการอำเภอ“บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ผ่านการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่าย 7 ภาคี มีกลุ่มเป้าหมาย 878 อำเภอ อำเภอละ 10 คน ประกอบด้วย 1. นายอำเภอ 2. ปลัดอำเภอ 3. ตัวแทนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตำแหน่ง 4. ตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 5. ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอ 6. ผู้นำภาคศาสนา 7. ผู้นำภาคประชาชน 8. ผู้นำภาควิชาการ 9. ผู้นำภาคเอกชน และ10. หัวหน้าศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต้นแบบหรือผู้แทน โดยยึดหลักการทำงานตามศาสตร์พระราชาด้วยกลไก 357 คือ 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่/ชุมชน จังหวัด สู่ระดับประเทศ 5 กลไก ได้แก่ ประสานงานภาคีเครือข่าย บูรณาการแผน ติดตามประเมินผล การจัดการความรู้ และสื่อสารสังคม และ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารสังคม ด้วยการทำงานเป็นทีม โดยนายอำเภอ คือผู้นำทีมระดับอำเภอ

“โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เป็นการสร้างภาคีเครือข่าย และ การสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการทรงงานและ การพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติราชการเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งกิจกรรมที่กรมการปกครองได้ดำเนินการ ได้แก่ “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ซึ่งเป็นการนำภาคีเครือข่ายที่เคยผ่านการอบรมความรู้ร่วมกัน ไปสู่การลงมือพัฒนาหมู่บ้านของตัวเอง ผ่านการกำหนดกิจกรรม “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านพัฒนายั่งยืน” โดยเป็นการให้แต่ละอำเภอดำเนินคัดเลือกหมู่บ้านในแต่ละตำบล ที่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้ภาคีเครือข่ายร่วมกันลงพื้นที่ และกำหนดโครงการหรือกิจกรรมพัฒนาตามสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน”อธิบดีกรมการปกครอง กล่าว 

อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวต่ออีกว่า การทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน มีการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน ซึ่งแสดงถึงความพร้อมรับการพัฒนาในทุกมิติ ในขณะเดียวกัน ภาคีเครือข่ายก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทรงงานและการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสามารถนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติราชการเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้ที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมก็มีภาวะการเป็นผู้นำมากขึ้น สามารถขับเคลื่อนและสร้างกลไกการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าด้านการพัฒนา กิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่ส่งผลต่อการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งการปรับเปลี่ยนค่านิยมของคนให้รู้จักการเสียสละ มีจิตอาสา เอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น จะเป็นพลังสำคัญในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาตนเอง และการจัดการของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

​​​​​​​

นอกจากนี้ ภาคีเครือข่าย ยังได้นำความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ ขยายผลสร้างความตระหนักรู้ไปเผยแพร่และปลูกฝังให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชกรณียกิจ เพื่อประชาชน ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม มีการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะในการพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็ง การทำงานเป็นทีม ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนภารกิจของหน่วยงาน และนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการฯ มากำหนด โครงการหรือกิจกรรม ต่าง ๆ ในการพัฒนาอำเภอ หมู่บ้าน ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่หมู่บ้านของตนเอง 

​​​​​​​