อุทกภัย"ยังวิกฤติ! "ภาคเหนือ" สังเวยน้ำท่วมไปแล้ว 9 ศพ "ภาคใต้" เหตุดินถล่ม 13 ศพ ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 3 หมื่นครัวเรือน ขณะที่ "ภูมิธรรม" ลงพื้นที่ จ.น่าน ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพ รมต.ประจำสำนักนายกฯ สั่งกรมประชาสัมพันธ์ ตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารร่วม JIC ระดมข้อมูลน้ำท่วม 24 ชั่วโมง ช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ประสบภาวะวิกฤต
เมื่อวันที่ 25 ส.ค.67 ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธาณภัย (ส่วนปฏิบัติการ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีรายงานว่าตั้งแต่วันที่ 16-22 ส.ค.เกิดน้ำท่วมในเขต 12 จังหวัด มีบ้านเรือนได้รับผลกระบ 30,807 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย (เฉพาะ จ.ภูเก็ต 13 ราย) และบาดเจ็บ 19 ราย
และจนถึงวันที่ 25 ส.ค.ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ 5 จังหวัดคือ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.น่าน จ.แพร่ (ล้านนาตะวันออก) และจ.เพชรบูรณ์ มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 21,824 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 9 รายแล้ว เป็นชาวเชียงราย 2 ราย พะเยา 2 ราย น่าน 3 ราย แพร่ 2 ราย ส่วน จ.เพชรบูรณ์ ไม่มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ และเฉพาะ จ.เชียงราย น้ำยังท่วมหลายอำเภอโดยเฉพาะ อ.เทิง อ.ขุนตาล อ.เชียงของ ฯลฯ
ด้านนายนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดเดินทางไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่ อ.เทิง และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เป็นวันที่ 2 หลังจากวันที่ 24 ส.ค.ได้ไปตรวจดูครั้งหนึ่งแล้ว โดยตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน
ขณะที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 37 ได้ตั้งโรงครัวพระราชทาน และกองบัญชาการกองทัพไทย ได้จัดรถครัวสนามเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ยังประสบเหตุโดยเมื่อวันที่ 24 ส.ค.พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมด้วยตัวเอง เพราะยังมีผู้ประสบเหตุที่บ้านเรือนพังเสียหายและไม่สามารถอาศัยอยู่ได้จึงต้องไปพักอาศัยอยู่ตามจุดที่ทางเจ้าหน้าที่กำหนดให้ชั่วคราว
วันเดียวกัน เมื่อเวลาประมาณ 10.20 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เดินทางถึง จ.น่าน พร้อมนำคณะมุ่งหน้าลงพื้นที่ อ.ท่าวังผา ทันที เพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชน และมอบถุงยังชีพ
โดยจุดแรก เดินทางไปยังวัดอัมพวัน (ม่วงใต้) ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำผ่านรถ Mobile War Room พบปะให้กำลังใจ พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 728 หลังคาเรือน
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยล่าสุด ในพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 19-24 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบ 4,633 หลังคาเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 4,678 ไร่ และ สาธารณประโยชน์หลายแห่งได้รับความเสียหาย หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ระดมกำลังให้ความช่วยเหลือเต็มที่ จนสถานการณ์ภัยกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แนวทางจากนี้ เร่งระบายน้ำ ฟื้นฟูความเสียหาย และ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามลำดับ
ที่ จ.แม่ฮ่องสอน นายไพจิตร เรือนแก้ว อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 32 หมู่ 3 บ้านทุ่งกองมู ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เกษตรกรบ้านทุ่งกองมู เปิดเผยว่า น้ำในแม่น้ำปายเริ่มหนุนสูงขึ้นอีกแล้ว ทำให้มีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ กระทบต่อชาวบ้านเกือบครึ่งของหมู่บ้านทุ่งกองมู ทั้งเรือกสวน ไร่นา โดยเฉพาะงา บางคนตัดงาหนีน้ำทำให้งาเสียหายหมดเกลี้ยง เนื่องจากถูกน้ำพัดหลากพัดไปกับสายน้ำ ทางด้านส่วนราชการก็แค่มาดูและเงียบไป ชาวบ้านยังไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาแต่อย่างใด ปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบคือ น้ำได้กัดเซาะที่นา ที่สวน และมีกรวดทรายเข้าถมที่การเกษตร ตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะทำให้พื้นที่ดินเสียหายและน้ำเปลี่ยนทิศกระทบที่ดินอีกฟากของแม่น้ำ
นอกจากนั้น ต้นข้าวกล้าในนาเสียหายและตายจากน้ำท่วมขาดแคลนต้นกล้าใหม่ ถ้าจะปลูกต้นกล้าใหม่ต้องใช้เวลาเดือนกว่า ๆ และเมื่อปลูกข้าวจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวที่ปลูกล้าหลังการปลูกตามปกติจะประสบปัญหาเรื่องโรคแมลง และนกป่ารวมไปถึงนกประจำถิ่นเช่น นกพิราบ นกกระจาบ ลงกินรวมข้าวจนเสียหายหนัก
นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันเกษตรกรจะประสบปัญหามากในพื้นที่ ต.หมอกจำแป่ , ต.ปางหมู โดยเฉพาะที่บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู มีน้ำท่วมขังที่นาใต้สะพานซูตองเป้ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมากว่า 23 วันแล้ว ส่วนที่บ้านทุ่งกองมู ก็ยังคงมีน้ำท่วมขังเหมือนกัน อย่างไรก็ตามในเรื่องการให้การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น พื้นที่ ที่ถูกน้ำท่วมขัง ได้ให้ทางผู้ใหญ่บ้านและ อบต.ทำการสำรวจยอดผู้ได้รับผลกระทบ และจะสามารถให้การช่วยเหลือก็ต่อเมื่อน้ำลดและสามารถสรุปความเสียหายได้ ส่วนพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว ได้เร่งให้ทาง อบต.เร่งดำเนินการจัดสรรงบประมาณในการเข้าไปใหการช่วยเหลือเป็นการด่วนแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ ตำบลปางหมู มากที่สุด ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ลงปิดทับเส้นทาง ทำให้ไม่สามารถสัญจรได้ตามปกติ บางแห่งมีดินสไลด์ปิดทับเส้นทางเกือบ 10 รอบ คือเส้นทางสู่ช่องทางจุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยผึ้ง ต.ห้วยผา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน สาเหตุมาจากฝนยังคงตกหนักและต่อเนื่องทุกวัน เมื่อเกิดเหตุดินไหลลงมาปิดทับเส้นทาง ทางหน่วยงานต่างๆ ก็เร่งไปแก้ไขปัญหา จนแล้วเสร็จในช่วงค่ำ แต่หลังจากนั้นได้เกิดฝนตกลงมาอีกพอรุ่งเช้าดินภูเขาก็ไหลลงมาปิดทับเส้นทางเหมือนเดิม ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน
อย่างไรก็ตามพบปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่บ้านทุ่งกองมู พบปูและใส้เดือนหนีน้ำขึ้นมาอยู่บนถนนทางหลวงสาย 128 สายเลี่ยงเมือง - บ้านปางหมู ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวในสมัยโบราณ ผู้เฒ่าผู้แก่ ทำนายว่า เมื่อมีปูหนีน้ำหรือใส้เดือนหนีน้ำออกมาอาศัยอยู่บนที่สูง แสดงว่าจะเกิดฝนตกหนักและมีเหตุน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งคำทำนายดังกล่าวได้มีการกล่าวขวัญมานมในในพื้นที่ของชนชาวไทยใหญ่ในแม่ฮ่องสอน
ขณะที่ นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการติดตามและรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน จึงสั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแล ทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน โดยยึดแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติ (แผนพระอินทร์) ของกรมประชาสัมพันธ์
จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารร่วม (Joint Information Center : JIC) ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย โดยมีสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และบูรณาการการทำงาน ระดมผู้ปฏิบัติงานสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งรายงานข่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป
"ประชาชนผู้ประสบภัย สามารถประสานมายังช่องทางต่าง ๆ ที่กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการ หรือโทรสายด่วน 1111 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล สายด่วน 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สายด่วน 1567 ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย สายด่วน 1586 ทางหลวง และทุกช่องทางของหน่วยงานภาครัฐ รัฐบาลเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่"นางสาวจิราพร กล่าว