“ปลัด พม.” เปิดเวทีถอดบทเรียนขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) มุ่งคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดโครงการถอดบทเรียนการดำเนินงานขับเคลื่อนตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism : NRM) และนายรัชพล มณีเหล็ก ผู้อำนายการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กล่าวรายงาน โดยมีนางสาวซาราห์ บินเย๊าะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 21 จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 แห่ง และผู้อำนวยการสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 6 แห่ง เข้าร่วมอบรม ณ ไอธารา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดเพชรบุรี

นายอนุกูล กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับปัญหาการค้ามนุษย์ จึงได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติ และปรับกระบวนทัศน์และพัฒนาการทำงานให้เท่าทันสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน มีมาตรฐานตามหลักการสากล รวมถึงปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่สำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเป็นกำลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) สามารถช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ รวมถึงบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นผู้เสียหาย ให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรฐานตามหลักการสากล จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบการค้ามนุษย์ และมีข้อสั่งการให้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2565 อีกทั้งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามข้อเสนอแนะที่สำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาที่มีต่อการดำเนินงานของประเทศไทย

นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวง พม. จึงได้จัด "โครงการถอดบทเรียนการดำเนินงานขับเคลื่อนตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism : NRM) เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อท้าทายและหาแนวทางการแก้ไขระหว่างจังหวัดและส่วนกลาง เพื่อรับฟังข้อท้าทาย  ข้อเสนอแนะ และรวบรวมให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) นำเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการคุ้มครองในอนาคต เพื่อให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ รวมถึงบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหาย ได้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย และหลักการสากล ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

#พม #ศรส #esshelpme #คุ้มครองผู้เสียหาย