กำลังเป็นที่จับตาของบรรดาผู้สันทัดกรณีด้านการค้า การขาย อาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์เชิงพาณิชย์ ณ ชั่วโมงนี้ พ.ศ.นี้ กันโดยแท้
สำหรับ “อินเดีย” ประเทศที่ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นพี่เบิ้มใหญ่ของภูมิภาคเอเชียใต้ ที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ เพราะว่าพลันที่อินเดีย เปิดตัวเผยโฉมถึงเป็นผู้เล่นใหม่ในสังเวียนการค้า การขาย อาวุธยุทโธปกรณ์ในตลาดโลกให้เป็นที่รู้จัก ก็ต้องยกนิ้วหัวแม่โป้งให้ว่า เซ็งลี้ฮ้อ คือ ขายดิบขายดีราวกับเทน้ำเทท่ากันเลยทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ที่พวกเขาประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเอง หรือร่วมคิดค้นพัฒนากับชาติมหาอำนาจอื่นๆ เช่น ขีปนาวุธพราห์โมส ที่อินเดียจับมือกับรัสเซีย ในการคิดค้นพัฒนาขีปนาวุธรุ่นนี้ขึ้นมา เป็นต้น รวมอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่อินเดียขออนุญาตใช้สิทธิบัตรจากประเทศผู้เป็นเจ้าของ เพื่อนำมาผลิตเองในอินเดีย อย่างปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติแบบอาก้า หรือเอเค 47 ที่เดิมเป็นสัญชาติรัสเซีย เป็นอาทิ
ปรากฏว่า เมื่อทางอินเดีย นำมาผลิตเอง สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี เช่น ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติเอเค 47 เป็นต้น ซึ่งกล่าวกันว่า มีประสิทธิภาพดีกว่าปืนอาก้าที่ผลิตจากประเทศมหาอำนาจบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็นคู่แข่งของอินเดีย
แม้กระทั่งกองทัพชาติอื่นๆ ก็ยังสั่งซื้อปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติแบบอาก้าที่ผลิตในอินเดีย แทนที่จะซื้อจากมหาอำนาจ ชาติเพื่อนบ้านของอินเดียที่กล่าวกันว่า มีราคาถูกกว่า
และไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ ในบรรดากองทัพชาติต่างๆ ที่มาเป็น “ลูกค้า” ของอินเดียนั้น ก็ยังปรากฏชื่อของ “สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นทั้งมหาอำนาจด้านการทหาร และเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ หมายเลขหนึ่งของโลก ตลอดช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
โดยมีรายงานฉบับล่าสุดว่า อินเดียส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่สหรัฐฯ ในช่วงปีงบประมาณที่แล้ว คือ 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยก็กว่า 4.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ มูลค่าดังกล่าว ก็นับเป็น “ครึ่งหนึ่ง” เลยทีเดียว ของมูลค่าการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดของอินเดียในช่วงปีงบประมาณที่แล้วที่ผ่านมา คือ 2.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยก็กว่า 9 แสนล้านบาท นับเป็นมูลค่ามหาศาล
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้ ปรากฏว่า ตัวเลขการซื้อขายดังกล่าว ก็มีอัตราการขยายตัวเติบโตสูงถึง 21 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบกับการอัตราการขยายตัวเติบโตแบบรายปีก็สูงถึงร้อยละ 32.5 ด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามแผนการและวิสัยทัศน์ที่นายนเรนทรา โมทิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งเป้าเอาไว้ในช่วงที่เขารับตำแหน่งผู้นำอินเดียใหม่ๆ เมื่อช่วงปี 2014 (พ.ศ. 2557) ว่า จะให้อุตสาหกรรมด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการทหารต่างๆ เป็นอีกหนึ่งในตัวทำรายได้เข้าประเทศของอินเดีย
รายงานข่าวเผยว่า นายกรัฐมนตรีโมทิของอินเดีย มิได้หยุด หรือพึงพอใจ แต่เพียงเท่านั้น ทว่า เขายังมุ่งมั่นเดินหน้าต่อสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการทหารเชิงพาณิชย์ของอินเดียให้เจริญรุดหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ โดยได้เพิ่มเม็ดเงินลงทุนอัดฉีดเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมดังกล่าวอีก 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยก็กว่า 2 แสนล้านบาท
ด้วยตัวเลขการซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์สัญชาติอินเดียของสหรัฐฯ ข้างต้น ก็สะท้อนให้เห็นแล้ว อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตีตรา “เมด อิน อินเดีย (Made in India)” คือ ผลิตในอินเดียนั้น มีคุณภาพเพียงใด มิเช่นนั้น สหรัฐฯ คงไม่เอาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาทิ้งเล่นๆ โดยที่ได้ยุทโธปกรณ์ หรืออุปกรณ์ทางการทหารไร้คุณภาพไปใช้ในกองทัพเป็นแน่
โดยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐฯ สั่งซื้อจากอินเดีย ส่วนใหญ่ก็เป็นชิ้นส่วนต่างๆ ของยุทโธปกรณ์ทางการทหาร รวมทั้งอากาศยานรบของทางกองทัพ
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงอากาศยานแล้ว ซึ่งประกอบด้วยอากาศยานของทางฝ่ายพลเรือน และอากาศยานทางทหาร ปรากฏว่า ทั้งโบอิง ล็อกฮีดมาร์ติน ก็เข้าไปร่วมลงทุนบริษัท ซึ่งมีความสามารถด้านอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยวดยานต่างๆ อย่าง ทาทา ในอินเดีย เป็นต้น
มีรายงานว่า ทางโบอิง เข้าไปจะลงทุนขนาดใหญ่กับบริษัทด้านอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ก่อนไปเปิดแผนกส่วนของโรงงานอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดใน “บังคาลอร์” ซึ่งถูกยกให้เป็น “ฮับ” หรือ “ศูนย์กลาง” ด้านเทคโนโลยีของอินเดีย โดยเม็ดเงินลงทุนไปมีมูลค่ามากถึง 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยก็กว่า 6.5 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ทางโบอิงยังไปร่วมกับทาทากรุ๊ป ดำเนินธุรกิจด้านอากาศยานร่วมกัน พร้อมกับตั้งชื่อด้วยว่า “ทาทา โบอิง แอโรสเปซ จำกัด” หรือ “ทีบีเอแอล” (TBAL : Tata Boeing Aerospace Ltd) โดยมีโรงงานตั้งอยู่ในเมืองไฮเดอราบัด อันเป็นนครหลวง เมืองเอก ของแคว้นเตลังคานา ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย
นอกจากโบอิงแล้ว ทางล็อกฮีดมาร์ติน ก็ไม่ยอมตกขบวนด้วยเช่นกัน โดยได้ร่วมทุนกับทาทากรุ๊ป ผุดกิจการด้านการผลิตยุทโธปกรณ์ทางการทหารในนครไฮเดอราบัดของอินเดียเช่นเดียวกัน
ว่ากันถึงประเทศที่เป็นลูกค้าซื้อหาอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากอินเดีย ที่นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ก็ยังมีประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยก็ยังสนใจอาวุธยุทโธปกรณ์เมด อิน อินเดีย ด้วยเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าอินเดียซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นหนึ่งในชาติที่เป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ ทว่า แดนภารตะแห่งนี้ ก็ยังเป็นประเทศที่นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากแหล่งผลิตในประเทศต่างๆ ทั้งทางฟากสหรัฐฯ และจากฝั่งรัสเซีย ด้วยมูลค่ามหาศาล จนถือเป็นชาติลูกค้าชั้นดีตามการจัดอันดับของ “ซิปริ” หรือ “สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม” ประเทศสวีเดนด้วยอีกเช่นกัน