น้ำโขงสูงสุดรอบปี เกือบ 10 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่ง แค่ 2 เมตร หนุนลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ล้นตลิ่งเกินความจุ เอ่อท่วมพื้นที่นาข้าว กว่า 20,000 ไร่ เร่งสำรวจความเสียหาย ให้ความช่วยเหลือชดเชยเยียวยา คาดขยายพื้นที่ผลกระทบต่อเนื่อง หากระดับน้ำโขงสูง
วันที่ 25 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ล่าสุดระดับน้ำโขงอยู่ที่ประมาณ เกือบ 10 เมตร ถือว่าสูงสุดในรอบปี ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่งประมาณ แค่ 2 เมตร คือ ที่ 12 เมตร เริ่มส่งผลกระทบ ต่อลำน้ำสาขาสายหลัก ลำห้วย ต่างๆ มีปริมาณน้ำสูงเกินความจุ เนื่องจากไม่สามารถไหลระบายลงน้ำโขงได้ เช่นเดียวกันกับ ลำน้ำอูน ที่ไหลมาบรรจบกับล้ำน้ำสงคราม บริเวณประตูระบายน้ำอาก อูน ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน หลังระดับน้ำโขงสูง พบว่าไม่สามารถไหลระบายลงน้ำโขง ได้ ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม เกินความจุ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกิดปัญหาเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่ม นาข้าวของเกษตรกร เป็นพื้นที่แล้วกว่า 20,000 ไร่ คาดว่าจะได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 15,000 ไร่ หากระดับน้ำโขงไม่ลดลงในช่วง อีก 1-2 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบขยายวงกว้างมากขึ้น
ด้าน นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายสันติพันธุ์ พันธุขันธ์ หัวหน้าโครงการชลประทานนครพนม นายเดช บำรุงหงษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม นายสาชล เตรียมมหาเกษม เกษตรอำเภอศรีสงคราม นายธนพจน์ ธนะขันธ์ หัวหน้าสถานีสูบน้ำ 4 รับผิดชอบในพื้นที่ อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม อ.นาทม โครงการชลประทานนครพนม และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ กำชับให้หน่วยงานเกี่ยวข้องวางแผนรับ มือ พร้อมสำรวจผลกระทบ ความเสียหาย เสนอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชดเชยความเสียหาย สำหรับพื้นที่การเกษตร ตามระเบียบราชการ
ส่วน นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนม ได้เตรียมพร้อมประสานทุกหน่วยงาน จัดตั้งศูนย์ดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ ได้รับผลกระทบจากน้ำโขงสูง รวมถึง ลำน้ำสาขาเอ่อล้น เบื้องต้นพบพื้นที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ติดกับลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ในพื้นที่ อ.นาหว้า อ.นาทม อ.ศรีสงคราม เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่ม รวมถึงพื้นที่ติดลำน้ำสงคราม ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ล่าสุดพบว่า ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อท่วม พื้นที่นาข้าว จำนวนกว่า 20,000 ไร่ โดยได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ให้การช่วยเหลือทุกด้าน ในส่วนที่พื้นที่การเกษตร เกิดความเสียหาย จะได้ประสาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือชดเชยเยียวยา หากเกินอำนาจหน้าที่จะต้องใช้งบประมาณระดับจังหวัด เข้าไปสนับสนุน ตามระเบียบทางราชการ อย่างไรก็ตามทางจังหวัดนครพนม ได้เฝ้าระวังติดตามดูแลพี่น้องประชาชน ทั้ง 12 อำเภอ ต่อเนื่อง