สำนักงานการปฏิรูที่ดินจังหวัดนครราชสีมา (ส.ป.ก.นครราชสีมา) สนับสนุนเกษตรกรรวมกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวและพืชผลทางการเกษตร โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อผลักดันข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกในพื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ที่มีความเหมาะสม ทำให้ได้ข้าวที่หอมอร่อย 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวและพืชผลทางการเกษตร มีสมาชิกจำนวน 12 ราย ตั้งอยู่ที่ ต.สีสุก อ.จักราช จ.นครราชสีมา พื้นที่ที่อยู่ในเขตทุ่งสัมฤทธิ์ ซึ่งมีบริเวณครอบคลุม 14 อำเภอ ใน จ.นครราชสีมา บนพื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์มีชั้นหินเกลือรองรับอยู่ด้านล่างทำให้ข้าวที่ปลูกได้ผลผลิตข้าวที่มีเมล็ดเรียวยาว และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ต่อมาจึงมีการผลักดันแปรรูปผลผลิตเป็นข้าวหอมมะลิระยะเม่าสู่ตลาด สำหรับผลผลิตและสินค้าแปรรูปทางการเกษตรอื่น ๆ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เช่น เส้นหมี่โคราชพร้อมน้ำปรุง น้ำสมุนไพรมะขามป้อม น้ำสมุนไพรมะม่วงหาวมะนาวโห่ น้ำสมุนไพรฟางใบเตย ผักพื้นบ้าน เป็นต้น

นางสาวชญานิษฐ์ คล่องสืบข่าว ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวและพืชผลทางการเกษตร กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนได้สมัครเข้าร่วมโครงการของ ส.ป.ก.นครราชสีมา เช่น โครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน โครงการเฝ้าระวังการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน และในอนาคตจะเข้าร่วมโครงการส่งเสริมระบบแปลงใหญ่ข้าวในเขตปฏิรูปที่ดิน นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมามีการทำงานวิจัยเรื่องการแปรรูปข้าวหอมมะลิ 105 ปรับปรุงระยะเก็บเกี่ยวช่วงข้าวระยะน้ำนม (ข้าวหอมมะลิระยะเม่า) ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการวิจัยเป็นคนรุ่นใหม่ที่สำนึกรักบ้านเกิดกลับมาถิ่นเดิม และมาร่วมทำการเกษตรในแปลงของพ่อแม่ มีการประชุมและพูดคุยเรื่องการรวมกลุ่ม เพื่อที่หน่วยงานภาครัฐจะได้เข้ามาส่งเสริม พัฒนากลุ่มให้มีรายได้ที่มั่นคง และการพัฒนาด้านองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพ การเพิ่มปริมาณ การลดต้นทุน และการแปรรูปผลผลิตของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ เช่น การแปรรูปมะขามป้อม หมี่คั่วจักราช ไซรัปอ้อย”

สำหรับข้าวหอมมะลิระยะเม่า เป็นข้าวระยะแป้งอ่อนที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกายเกิดจากการดูแลเอาใจใส่ในการผลิตของเกษตรกรด้วยนวัตกรรมองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสานกับภูมิปัญญามาเป็นข้าวสารหอมมะลิระยะเม่าได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีจำหน่ายทางออนไลน์และบูธสินค้าทางการเกษตรทั่วประเทศ ขณะที่ส.ป.ก.จะขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องการพัฒนาสินค้าและผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินให้คุ้มค่า และสนับสนุนช่องทางการตลาดที่หลากหลายต่อไป