เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ณ เวลานี้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย เป็นผู้หญิงที่ชื่อ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” ซึ่งเป็นที่จับตามองของนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ  และประชาชน ว่าจะสามารถนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติในช่วงนี้ได้หรือไม่

โดยเฉพาะนโยบายที่อดีตนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ และแถลงนโยบายในรัฐสภา  “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” ที่หมายมั่นปั้นมือจะสามารถคลอดได้ในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน นี้

ซึ่งไม่รู้จะเป็นหมันหรือไม่!?!

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า โครการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการที่ดี และเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ก็ต้องยอมแลกกับงบประมาณที่นำมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกว่า 500,000 ล้านบาท

เพราะถ้าทำไม่ดี ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เงิน 500,000 ล้าน ก็จะกลายเป็น “ตำน้ำพริก ละลายแม่น้ำ”

แต่ล่าสุด “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า  ยืนยันว่าจะมีแน่นอน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช้าไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไหลลง ยิ่งไหลลงเท่าไร ก็ยิ่งดึงขึ้นมายากเท่านั้น ตอนนี้กำลังพูดคุยกันถึงแนวทาง หลังจากที่นายกฯทำงานได้แล้วก็คงจะมีการสั่งการทันที

ส่วนที่จะแจกเป็นเงินสด นั้น ข้อดีคือเร็ว แต่ข้อเสียคือจะใช้ในสิ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า ไม่มีครอบงำนายกฯ มีแต่ครอบครอง เพราะ "อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร" เป็นลูกสาวของตน

ก็ต้องวัดใจ “นายกฯหญิง แพทองธาร” จะนำมาปัดฝุ่นใหม่หรือไม่!?!

ขณะที่อีกหนึ่งจุดสำคัญของคณะรัฐมนตรี “แพทองธาร1” ในการฟอร์มทีมเศรษฐกิจ เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ว่าใครจะมานั่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะเป็น นายพิชัย ชุณหวชิร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทางการคลัง หรือ นายกรัฐมนตรี จะนั่งควบคุม ด้วยตนเอง ก็ล้วนเป็นที่จับตามองทั้งสิ้น เพราะมีโครงการต่าง ๆ มากมายที่จะนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ “โครงการแลนด์บริดจ์” โปรเจกต์ 1 ล้านล้านบาท เป็นนโยบายเฉพาะของรัฐบาลเศรษฐา ที่ดึงนักลงทุนทั้งโลกมาร่วมลงทุนกับโครงการนี้ ทั้งเอกชนจากจีน-ดูไบ ถึงขั้นมาศึกษาความเป็นไปได้โครงการ ทั้งนี้มีการประเมินว่าจะเปิดประกวดราคาช่วงปลายปี 2568 หรือไม่เกินต้นปี 2569 และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ยืดเยื้อมา 3 รัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลเศรษฐา และเข้าสู่รัฐบาลแพทองธาร หลังจากลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 แต่ต้องเจอกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้การดำเนินโครงการต้องล่าช้าออกไป จนรัฐบาลประยุทธ์ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนมาแล้ว 2 ครั้ง และล่าสุด 23 พฤษภาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) เห็นชอบที่จะแก้ไขสัญญาให้ เอเชีย เอรา วัน อีกครั้ง ตามกำหนดเดิม คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุม ครม.กันยายนนี้ 

ด้านความพึงพอใจของประชาชน และความคาดหวังจาก “นายกรัฐมนตรี แพทองธาร” นั้น ผศ.ดร. สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหา วิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เผยว่า จากการสำรวจความเห็นเรื่องความคาดหวังนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 1,500 คนทั่วทุกภูมิภาค พบว่า ประชาชน 57% พึงพอใจ “อุ๊งอิ๊ง” นั่งเก้าอี้นายกฯ โดยอยากให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพมากที่สุด และประชาชนคนไทยมีความเชื่อมั่นต่อนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ในทุก ๆ ด้านทั้งในเชิงของการบริหารประเทศและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งภายหลังจากนี้ยังคงต้องติดตามนโยบายต่าง ๆ ที่จะออกมาใหม่และแนวทางการสานต่อนโยบายเดิมที่มีอยู่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด

และนางสาว วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นในลักษณะ Sideway Up โดยมีแรงหนุนจากการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯเป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้ Overhang ทางการเมืองถูกปลดล็อก จึงให้กรอบดัชนีไว้ที่ 1,300-1,350 จุด

ทั้งนี้ นักลงทุนมีความคาดหวังต่อการเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทางกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อเสนอ ครม.ชุดใหม่ สำหรับการกระตุ้นการบริโภคและมาตรการแบ่งเบาภาระประชาชนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงทำให้เป็นหนี้เสีย รวมถึงมาตรการเรียกความเชื่อมั่นตลาดทุนในการเสนอขายกองทุนรวมวายุภักษ์ให้รายย่อยวงเงิน 100,000-150,000 ล้านบาท

ขณะที่ทาง สศช. ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2567 และแนวโน้มปี 2567 ว่าเศรษฐกิจไทยหรือ GDP ขยายตัว 2.3% (จากตลาดคาด 2.1-2.8%) เร่งขึ้นจากการขยายตัวที่ 1.6% ในไตรมาสแรกของปี 2567 รวมครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์ 2.9% อินโดนีเซีย 5% มาเลเซีย 5.9% ฟิลิปปินส์ 6.3% เวียดนาม 6.9%

หลังจากนี้คงต้องลุ้นกันต่อไปคณะรัฐมนตรี “แพทองธาร1” จะเปรี้ยงปร้าง มากน้อยแต่ไหน!?!

เช็คฟอร์มทีมเศรษฐกิจแล้วจะไหวต่อปัญหาทั้งภายในประเทศ  และภายนอกประเทศ หรือไม่!!

เร็ว ๆ นี้จะได้คำตอบ!!!