ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ชรินทร์ นันทนาคร ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราในวัย 91 ปี
ประวัติของ ชรินทร์ (1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567) เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง แต่จะขอนำมาเขียนถึงคร่าวๆตรงนี้เพื่อแสดงความเคารพอีกครั้ง
ชรินทร์ พื้นเพเป็นคนเชียงใหม่ ชื่อเดิมคือ บุญมัย งามเมือง เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จบมัธยมจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ก่อนจะมาเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการในกรุงเทพฯ เคยทำงานที่บริษัทกมลสุโกศล สาขาเชียงใหม่ ย้ายมาประจำที่สำนักงานใหญ่ของกมลสุโกศลในกรุงเทพฯในเวลาต่อมา จากนั้นก็ลาออกไปทำงานเป็นเลขานุการที่องค์การยูซ่อม (The United States Operations Mission to Thailand - USOM หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ด้านพัฒนาเส้นทางคมนาคมและสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์)
ชื่อถูกเปลี่ยนเป็น ชรินทร์ งามเมือง เมื่อเข้าสู่วงการเพลง ซึ่งเริ่มต้นอาชีพร้องเพลงด้วยการขัดเกลาและสนับสนุนจากครูเพลง ไสล ไกรเลิศ เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่น คือ สุเทพ วงศ์กำแหง (12 พฤษภาคม 2477 - 27 กุมภาพันธ์ 2563) จะเรียกว่ามีครูคนเดียวกันก็ไม่น่าจะผิดความจริงไปมาก และต่อมาประสบความสำเร็จกลายเป็นนักร้องแถวหน้าของวงการเพลงไทย อีกคนที่โด่งดังไม่แพ้กันคือ นริศ อารีย์ (31 ธันวาคม 2473 - 30 กันยายน 2554) ถือเป็น 3 สุดยอดในพุทธทศวรรษ 2490
ชรินทร์ เริ่มร้องเพลงสลับละครเวทีเรื่อง “นางไพร” เมื่อปีพ.ศ. 2492 ด้วยเพลง “ดวงใจในฝัน” และเริ่มบันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก จากนั้นก็บันทึกเสียงอีกมากมาย และเปลี่ยนนามสกุลเป็น นันทนาคร ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ประเมินกันว่า ชรินทร์ บันทึกเสียงมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,500 เพลง หลายเพลงกลายเป็นเพลงอมตะที่ยังถูกนำมาร้องและบรรเลงกันจนถึงทุกวันนี้ เช่น “เรือนแพ”, “ทุ่งรวงทอง”, “รอยรักรอยเล็บ”, “หยาดเพชร”, “อาลัยรัก”, “ทาษเทวี”, “ในอ้อมกอด”, .ยังคอย”, “นิราศนุช”, “เด็ดดอกรัก”, “ผู้ชนะสิบทิศ”, “ที่รัก”, “ท่าฉลอม”, “ทุยจ๋าทุย”, “เพราะขอบฟ้ากั้น” ฯลฯ และได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง “อาลัยรัก”
นอกจากนี้ ชรินทร์ ยังมีชื่อเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์เพลง “สดุดีมหาราชา” ร่วมกับ ชาลี อินทรวิจิตร, สมาน กาญจนะผลิน และ สุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเดิมแต่งขึ้นเพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง "ลมหนาว" ที่ ชรินทร์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง เมื่อปี 2509 และต่อมา กลายเป็นเพลงอมตะที่ร้องกันในพิธีการต่างๆ จนกระทั่งถูกจัดเพลงนี้ให้เป็น 1 ใน 6 เพลงสำคัญของแผ่นดิน
ชรินทร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปีพ.ศ. 2541
ชรินทร์ คล้ายศิลปินเพลงดังหลายคนที่ถูกดึงดูดเข้าสู่วงการภาพยนตร์ หนังเรื่องแรกในฐานะนักแสดงของ ชรินทร์ คือ “สาวน้อย” (2501) จากนั้นก็ตามมาอีกหลายเรื่อง ต่างกันที่เขาไม่ได้แค่เข้าไปชั่วครั้งชั่วคราว และไม่ได้หยุดลงแค่การเป็นนักแสดง แต่เอาจริงเอาจังถึงขนาดเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ โดยมี “เทพบุตรนักเลง” (2508) เป็นเรื่องแรก ก่อนจะมากำกับเรื่องแรก "สวรรค์วันเพ็ญ" (2512)
ผลงานการสร้างภาพยนตร์ในนาม นันทนาครภาพยนตร์ มีทั้งหมด 20 เรื่อง สามเรื่องแรกเป็นผู้กำกับอื่น หลังจากนั้น ชรินทร์ ก็ลงมือกำกับด้วยตัวเองมาโดยตลอด รวมแล้ว 17 เรื่อง จนถึง “คุณจ่าเรือแจว” (2531) ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายก่อนวางมือจากวงการภาพยนตร์
หลังจากเพลงไทยรับเอาวิธีการเรียบเรียงดนตรีแบบตะวันตกมาใช้ในพุทธทศวรรษ 2470 จนมาถึงการแบ่งแนวเป็นเพลงไทยสากลและเพลงลูกทุ่ง เพลงไทยก็ยังแบ่งย่อยลงไปได้เป็นสองแนวทางใหญ่ คือ แนวของ สุนทราภรณ์ และแนวแบบที่เรียกแบบฝรั่งได้ว่า crooner ซึ่งแนวหลังนี้ นักร้องฝ่ายชายมี สุเทพ วงศ์กำแหง และ ชรินทร์ นันทนาคร นำอยู่ข้างหน้า
ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน แต่เกิดความบาดหมางกันระยะหนึ่ง (อยากรู้ว่าสาเหตุอะไรต้องจุดธูปถามทั้งสองท่านเอาเอง) แต่ภายหลังก็กลับมาคืนดีกันดั้งเดิม และร่วมคอนเสิร์ทใหญ่ๆกันหลายครั้ง หลังสุดคือคอนเสิร์ท Masters of Voice 3 เมื่อปี 2561
แต่ถึงจะเป็นนักร้องในแนวทางเดียวกัน ทั้งสองก็ยังมีความแตกต่างกันในน้ำเสียง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของนักร้องที่จะประสบความสำเร็จและเป็นที่จดจำของผู้ฟัง ต้องมีเอกลักษณ์ของตนเอง ชรินทร์ มีอิทธิพลของเพลงไทยเดิมอยู่ในการร้องมากกว่า สุเทพ โดยเฉพาะการเอื้อนเสียง สิ่งที่โดดเด่นมากของ ชรินทร์ คือการมีระยะเสียง (range) กว้าง ร้องโน้ตต่ำได้มาก และสูงได้มาก มีเสน่ห์เฉพาะตัว แต่ร้องตามได้ยาก
แม้จะใช้เวลาของช่วงเปลี่ยนผ่านของแนวดนตรีสมัยใหม่ของเมืองไทย หันไปทำธุรกิจภาพยนตร์ แต่สามารถพูดได้ว่า การร้องเพลงคือจิตวิญญาณของ ชรินทร์ เพราะตั้งแต่ปี 2542-2566 เขามีคอนเสิร์ทเดี่ยวของตนเองมาตลอดเกือบทุกปี ขาดไปเพียงไม่กี่ปี นอกจากนั้นยังมีคอนเสิร์ทใหญ่ที่ไปร่วมอีกนับไม่ถ้วน
วันนี้ ชรินทร์ นันทนาคร จากไปแล้ว แต่สิ่งที่จะยังอยู่ไปตลอดกาลคือเสียงร้องยอดเยี่ยม เป็นแม่แบบของนักร้องรุ่นต่อมาอีกมากมาย และเป็นอีกเสียงหนึ่งที่จะอยู่คู่แผ่นดินไทยชั่วนิรีนดร์