ชาวประดิพัทธ์ 6 ค้านสร้างที่พักข้าราชการสภาฯ ชี้ปัญหาส่อทุจริต
เมื่อวันที่ 23 ส.ค.67 นางสาวดรัลรัตน์ เงินวัฒนะ ตัวแทนชุมชนและบ้านระยะประชิด ซอยประดิพัทธ์ 6 เขตพญาไท เปิดเผยผลการเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) โครงการก่อสร้างอาคารที่พักสวัสดิการข้าราชการรัฐสภาของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 ที่สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกทม.ดินแดง ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีการก่อสร้างในพื้นที่ใกล้เคียงชุมชน และยังเป็นพื้นที่หนาแน่น ประกอบด้วย ร้านค้า โรงเรียน ชุมชนผู้สูงอายุ อีกทั้งบริเวณถนนประดิพัทธ์ มีปัญหาการจราจรแออัด หากดำเนินการก่อสร้างอาคารที่พักขนาดใหญ่จะส่งผลให้มีปริมาณรถเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 500 คัน
นอกจากนี้การก่อสร้างโครงการยังมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มลภาวะทางเสียงระหว่างก่อสร้างที่ประชาชนจะต้องเผชิญเป็นเวลากว่า 5 ปี อีกทั้งความร้อนที่อาจจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่เนื่องจากการติดตั้งเครื่องปรับอากาศของโครงการที่จะมีมากกว่า 500 เครื่องเป็นอย่างต่ำ รวมทั้งในพื้นที่ยังมีผู้สูงอายุอาศัยจำนวนมาก การก่อสร้างโครงการจะทำกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องอยู่บ้านตลอดเวลา
โดยตัวโครงการ ไม่เคยทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร มีแต่ประชาสัมพันธ์โครงการกับประชาชนเท่านั้น ส่วนชุมชนในบริเวณใกล้เคียงยังไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการทำประชาพิจารณ์ บริษัทที่ปรึกษาไม่เคยเรียกชุมชนประชุมรับฟังรายละเอียด แต่โครงการกลับเริ่มเข้าทุบตึกเตรียมพื้นที่ไปแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.66 เป็นระยะเวลาเกือบ 10 เดือนแล้วที่ชุมชนยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดการก่อสร้างอย่างชัดเจน ส่อให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส ประชาชนในพื้นที่กำลังถูกละเมิดสิทธิ์ จึงได้ร่วมกันแสดงจุดยืน เพื่อต่อต้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวในพื้นที่ถนนประดิพัทธ์ ซึ่งควรทำสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
นางสาวดรัลรัตน์ กล่าวว่า ชุมชนที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร กำลังได้รับความเดือดร้อนจากโครงการของภาครัฐ และไม่ใช่แค่ความเดือดร้อนระหว่างการก่อสร้างโครงการที่อาจจะเกิดขึ้นนานกว่า 3-4 ปีระหว่างการก่อสร้างเท่านั้น แต่กังวลไปถึงปัญหาระยะยาวที่จะตามมาหลังจากก่อสร้างระยะ 1 แล้วเสร็จ เช่น การปล่อยให้ผู้อื่นเข้ามาเช่าต่อ ปัญหาการจราจรที่จะหนาแน่นมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ โดยชุมชนเห็นว่า ภาครัฐควรนำพื้นที่ดังกล่าวมาทำเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนในย่านประดิพัทธ์ สะพานควาย อารีย์ อินทามระ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะจุดที่จะใช้ก่อสร้างโครงการมีพื้นที่สีเขียวจำนวนน้อย ที่ประชุมมีความเห็นว่า จะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังบริษัทที่ปรึกษา เพื่อให้ดำเนินการตามข้อกังวลและชี้แจงกลับมาอีกครั้ง พร้อมทั้งแนะนำให้ส่งหนังสือกล่าวโทษไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทที่ปรึกษาต่อไป
นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารที่พักสวัสดิการข้าราชการรัฐสภามีประเด็นที่น่าสงสัยโดยเฉพาะการขออนุมัติการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีการขอยื่นก่อนที่งบประมาณก่อสร้างโครงการจะถูกอนุมัติ เพราะตามขั้นตอนแล้วการศึกษาผลกระทบ EIA จะต้องดำเนินการและทำประชาพิจารณ์กับประชาชนไม่ต่ำกว่า 1-2 ครั้ง แต่ที่ผ่านมามีเพียงการส่งเอกสารประชาสัมพันธ์ไปให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้น โดยยังไม่ได้ผ่านกระบวนการทำ EIA อย่างแน่นอน โดยตนเห็นว่าการเข้าสู่การพิจารณา EIA ในครั้งนี้เป็นการสอดไส้ EIA มากับเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการ นอกจากนี้ยังพบว่างบประมาณก่อสร้างยังไม่ได้รับการอนุมัติ แต่กลับมีการทำ EIA ไปแล้ว ซึ่งมีความคาดเคลื่อนจากขั้นตอนการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่อย่างมาก
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่พักสวัสดิการข้าราชการรัฐสภา บริเวณประดิพัทธ์ซอย 6 ถนนประดิพัทธ์ เขตพญาไท เป็นโครงการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับข้าราชการรัฐสภา ความสูง 30 ชั้น 545 ห้อง จำนวน 3 อาคาร เบื้องต้นจะเริ่มก่อสร้างโครงการระยะ 1 เนื้อที่ 4-3-58 ไร่ หรือ 7,839 ตารางเมตร บนที่ดินของกรมธนารักษ์ พื้นที่ประมาณ 9-1-36 ไร่ หรือ 14,944 ตารางเมตร