ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“ความเชื่อมั่นศรัทธาในการใช้ชีวิต...ถือเป็นหลักชัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ที่สง่างาม และมีคุณค่าเสมอ..แม้จะต้องเผชิญภัยกับอุปสรรคและความทุกข์ยาก แต่ความอดทนและแน่วแน่ในชีวิตย่อมเป็นแรงผลักดันต่อการสร้างสรรค์จิตวิญญาณแห่งความเป็นตัวตนนานา...มันคือความเด็ดเดี่ยวเหนือความเด็ดเดี่ยว..แม้ว่าบางช่วงขณะของชีวิตจะต้องโดนคุกคามจากอุปสรรคแห่งชะตากรรมมากมายสักเพียงใดก็ตาม..มันกลับกลายเป็นความทุกข์ ที่ละเลงสีสันแห่งความหม่นหมองของภาวะไร้ความสุขอาบร่างตัวตนแห่งตนอย่างยากจะลบเลือน..แม้เมื่อใด..!
“ความสุขไม่ได้มาจากการค้นหา แต่มาจากการใช้ชีวิต...”
“นัยแห่งสำนึกคิดเบื้องต้น ..คือสาระที่มีความหมายต่อภาวะแห่งความเป็นชีวิตยิ่งของหนังสือเล่มหนึ่ง...หนังสือที่สื่อแสดงให้ประจักษ์ถึงความโดดเดี่ยวแม้เด็ดเดี่ยว.. “SISU”...ปรัชญาการใช้ชีวิตของชาวฟินแลนด์..ที่ประกอบสร้างขึ้นด้วย..ความรื่นรมย์ สมดุล แรงกล้า..สู่การค้นหาความมั่นคงจากภายใน.. “ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไร...พวกเราล้วนต้องพบอุปสรรคและความท้าทายทุกวัน..คงจะดีไม่น้อยหากเราจะกล้าหาญ..และทรหดขึ้นเสียหน่อย..”
นี่คือ..หนังสือซึ่งเป็นต้นธารความคิดที่แผ่ขยายไปทั่วโลก..
“ซิสุ”..ไม่ใช่การแสวงหา “ความสุข” ในสไตล์นอร์ดิกอย่างที่คนส่วนหนึ่งเข้าใจกัน..แต่มันคือการยอมรับว่า..ชีวิตเต็มไปด้วยความท้าทาย และเป็นคุณสมบัติ ที่จะช่วยให้ผ่านพ้นทั้งช่วงเวลาอันสวยงาม และโหดร้ายได้อย่างเข้มแข็ง..
“กัตเทียร์ พันต์ซาร์” (Katja Panzar)..นักเขียน บรรณาธิการ และนักข่าวโทรทัศน์เชื้อสายฟินแลนด์ที่เติบโตในแคนาดา และเคยใช้ชีวิตอยู่ทั้งในแคนาดาและอังกฤษ..ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์..และเธอยังคงไปว่ายน้ำในทะเลทุกวันตลอดปี..
“เช้าวันหนึ่งในช่วงต้นฤดูร้อน..ฉันมุ่งหน้าไปทะเล โดยเดินเลาะ ตามทางโรยกรวดที่มีต้นไม้เรียงรายริมน้ำ ที่ริมฝั่งมีเรือตัดน้ำแข็งสีเหลืองวัดลำหนึ่งจอดอยู่..เรือลำนี้มีชื่อว่า “ซิสุ”..ซึ่งตั้งขึ้นตามแนวคิดแห่งความแข็งแกร่ง..และไม่ย่อท้ออันเป็นเอกลักษณ์แบบฟินแลนด์”..
“ซิสุ” เป็นภาษา “ฟินนิช” (Finnish) แปลและมีความหมายตรงๆว่า “ลำไส้”(Guts) หรือสิ่งที่อยู่ข้างในซึ่งไม่ใช่ทั้งสมอง และหัวใจ..แต่ลำไส้นี่แหละ..ที่ทำให้เราอยู่รอดผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้.. “ชีวิตของคนเราทุกคน ต้องสร้าง “ซิสุ” ตั้งแต่วัยเด็ก”..เพื่อจะได้พบ..มิติ “น้อยแต่มาก” แบบนอร์ดิก..อันเป็นวิถีชีวิต “ที่ทั้งเรียบง่ายและยั่งยืน”..
อย่างไรก็ดี โลกต้องน้อมรับความจริงเชิงประจักษ์ที่ว่า..ประเทศเล็กๆอย่างฟินแลนด์..ได้ทำเรื่องมหัศจรรย์เหนือความคาดหมาย..มาครั้งแล้วครั้งเล่า..ทั้งการรบที่เอาชนะมหาอำนาจรัสเซีย แม้จะมีกำลังน้อยกว่าหลายเท่า..ปฏิรูปการศึกษาจากเดิมที่มีคุณภาพเพียงค่าเฉลี่ย จนได้รับการกล่าวขานว่า มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก..ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศแห่งนวัตกรรมอันดับต้นๆของโลก..
“ซิสุ...นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า..กรอบคิดแห่งการลงมือทำ (Action Mindset)...นั่นคือทัศนคติอันหาญกล้า..ที่ช่วยให้เรารับมือกับความท้าทายทั้งหลาย...มันคือ..วิถีชีวิตที่ลงมือเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาส”
“พันต์ซาร์” ได้แสดงแนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับ “ซิสุ” ของเธอ..ที่เรียนรู้และรับรู้จากประสบการณ์เอาไว้ในหลายส่วน ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นสาระที่น่าสนใจ..มันเชื่อมโยงกับรายละเอียดแห่งเนื้อในของชีวิต ..ผ่านการปฏิบัติเฉพาะตัวที่เปี่ยมเต็มไปด้วยความน่าสนใจ ..
“ฉันมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด เมื่อมองกลับไปฉันก็เข้าใจชัดเจนว่า สถานการณ์ดังกล่าว...เกิดจากฮอร์โมนที่พลุ่งพล่าน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต การอดนอน และการไม่ได้ออกกำลังกาย...ที่ผ่านมา ความอยู่ดีมีสุขในฟินแลนด์ของฉัน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากนัก..ฉันจึงไม่ตระหนักว่า จะต้องคอยรักษาสมดุลชีวิตด้วยการออกกำลังกายและพักผ่อนด้วย”..ความตระหนักรู้นี้คือ..วิถีอันชัดแจ้งของ “ซิสุ” ..ที่เกี่ยวกับความทรหดของจิตใจ..ความแข็งแกร่งและความไม่ย่อท้อ..มันคือความสามารถในการทนต่อความเครียดมหาศาล ในขณะที่ลงมือต่อสู้กับเหตุการณ์ ที่ดูเหมือนจะเอาชนะไม่ได้..
“ฉันยังไร้เดียงสา และนึกว่าการมีลูกนั้น คงหมายถึงชุดน่ารักๆ การได้กอดเด็กทารก และโอกาสที่จะได้ถ่ายรูปสวยๆ..ฉันทำงานดูแลเด็กๆบ่อย..ตอนเป็นวัยรุ่น และต่อมายังได้เป็นแม่ทูนหัวด้วย ฉันชอบทารกและเด็กๆ และนึกว่าตัวเองรู้ว่า..การดูแลเด็กนั้นต้องทำอะไรบ้าง..”
ว่ากันว่า..การซึมซับวิถีชีวิตแบบนอร์ดิก..ในทุกรูปแบบและแง่มุมนั้น ต้องอาศัยปณิธานอย่างแรงกล้า.. “พันต์ซาร์” ได้เล่าว่า..เธอก็ต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่..กว่าจะปรับตัวและซาบซึ้งกับความคิดความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่เป็นเอกลักษณ์ของคนฟินน์ (เดี๋ยวนะ..เราจะไปทำกิจกรรมสร้างสัมพันธ์พนักงานกันในสวนเหรอ..หิมะกำลังตกนะ..)..การกระทำเช่นนี้ ต้องมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมแพ้หรือมักง่าย..พูดง่ายๆว่าจะต้องมี"ซิสุ"อย่างมากนั่นเอง..
“ในตอนแรก ฉันเข้าใจผิดว่า “ซิสุ” คือความดื้อดึง ความประหลาด หรือความมัธยัสถ์ และนึกว่า แนวคิดแบบนี้ไม่เกี่ยวข้องและไม่จำเป็นกับฉันเอาเสียเลย” เพราะเธอคิดว่า..บริบทแห่งชีวิตของเธอ..ได้เติบโตมาจากวัฒนธรรมแห่งการขับรถ จึงชอบมากที่สิทธิพิเศษอย่างหนึ่งของการเป็นพนักงานบริษัทสื่อขนาดใหญ่ คือค่าแท็กซี่ไปในที่ต่างๆ เช่นงานสัมภาษณ์ งานแถลงข่าว หรือสนามบินเวลาไปทำงานต่างประเทศ..เธอจึงแปลกใจมาก ที่เพื่อนร่วมงานชาวฟินน์คนหนึ่ง มักเลือกขี่จักรยานไปงานข้างนอกแทนที่จะเรียกแท็กซี่ ทั้งๆที่เขามีสิทธิ์เบิกได้..
“ตอนนั้นฉันงง..มากว่า ทำไมคนคนหนึ่งจึงเลือกทางที่ยาวกว่า..เขายอมปั่นจักรยานแทนที่จะนั่งสบายๆ ไปในรถที่มีคนขับให้...”
อีกไม่นานหลังจากนั้น..เธอจึงได้เข้าใจการกระทำของเพื่อนร่วมงาน..การตัดสินใจนั้น..มาจากแนวคิดที่เน้นการปฏิบัติ(practicaly)แบบนอร์ดิก รวมกับ ความมุ่งมั่น(grit)..เมื่อชีวิตต้องนั่งทำงานอยู่ถึงสองสามชั่วโมง อะไรจึงจะดีไปกว่า..การได้ออกกำลังและสูดอากาศสักหน่อย..อีกทั้งยังรวมไปถึงการได้สัมผัสกับของดีของสิ่งแวดล้อม..เพราะรถยนต์บนถนนจะลดไปหนึ่งคัน..และบางทีการปั้นจักรยานนั้นอาจเร็วกว่าด้วย ถ้าได้อยู่ในเลนจักรยานโล่งๆ แทนที่จะต้องไปฝ่ารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน...นี่คือตัวอย่างแห่งการปฏิบัติของชาวฟินน์..ผ่าน “ซิสุ” เล็กๆ น้อยๆ ที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน..การจะรู้ซึ้งเช่นนี้..ชีวิตก็ต้องผ่านการเดินทางอันยาวนานเสียก่อน..
“..ซิสุ..คือส่วนผสมของการฮึดสู้ และความกล้า ความห้าวหาญ ความดื้อดึง และ..การยืนหยัดต่อสู้..หลังจากที่ คนอื่นๆได้ยกธงขาวไปแล้ว..”
“พันต์ซาร์” ได้ระบุว่าเธอหันมาศรัทธา และปฏิบัติตามหลักของ “ซิสุ” เมื่อเริ่มขี่จักรยานในหน้าหนาว ในปีสองปีที่ย้ายมาอยู่ฟินแลนด์..เธอต้องฝ่าหิมะ และอากาศที่เย็นยะเยือกกลับบ้าน..เพื่อนบ้านคนหนึ่งของเธอเห็นเธอกำลังเก็บจักรยานที่ลานหน้าตึกได้พูดว่า “คุณช่างมีซิสุ..จริงๆ” (Olet sisukas!) อันแปลความหมายได้ว่า “คุณกล้ามากเลย”
เธอคิดว่า..นั่นเป็นคำชมที่แสดงว่า.. “เธอเจ๋งสุดๆ”..เนื่องเพราะ เลือกใช้แรงกายในสภาพอากาศที่แสนท้าทาย..ซึ่งต่อมาการว่ายน้ำหน้าหนาว ก็ทำให้เธอได้รับคำชมในประโยคนี้เช่นกัน..ก่อนหน้านั้น “พันต์ซาร์” ยอมรับว่า.. แม้จะเคยได้ยินคำว่า “ซิสุ” มาบ้าง เเต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร ก่อนที่มาตระหนักกับประโยคที่ว่า “คุณมีซิสุมากเลย” ซึ่งเธอคิดว่ามันมีความหมายมากกว่าเรื่องของความเจ๋ง..ซึ่งก็ทำต่อมาเธอจึงตัดสินใจว่า จะต้องศึกษาคำที่พบได้ในทุกที่..ในฟินแลนด์ให้มากขึ้น..
“ซิสุ..เป็นยี่ห้อลูกอมชะเอมเทศที่มีขายมาตั้งแต่ปี 1928 และ ซิสุเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญอันไม่เป็นทางการของประเทศ..ที่ว่า.. “ซิสุ..ซาวน่า และ ซิเบลิอุส”..
ฟินแลนด์..เต็มไปด้วยซาวน่าทั้งแบบส่วนตัวและสาธารณะ ประมาณกันว่าประเทศที่มีคน 5.5 ล้านคน แห่งนี้มีซาวน่าถึง 3.3 ล้านแห่ง..เหตุนี้การอบไอร้อนแบบฟินน์จึงเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิต...และก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่ใครมาถึงฟินแลนด์แล้วไม่ได้ซาวน่า หรือไม่ได้รับเชิญไปซาวน่า...ส่วน “ซิเบลิอุส”..คือ “ชอง ซิเบลิอุส” (Jean Sibelius)..เป็นนักประพันธ์เพลงชาวฟินน์ ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์..บทเพลงของเขา มีส่วนสร้างอัตลักษณ์ประจำฟินแลนด์ ในช่วงที่ประเทศ เป็นอิสระจากรัสเซีย..
“เมื่อมาถึงแก่นของคำว่า ซิสุ การให้คำจำกัดความอาจไม่ง่ายนัก..ฉันถามผู้คนมากมายว่าพวกเขาคิดว่า คำคำนี้หมายความถึงอะไร?..คำตอบที่ได้นั้นกว่างมาก และพอจะสรุปได้ว่า คนทั่วไปจะหมายถึง “การไม่ล้มเลิก โดยเฉพาะเวลาที่สถานการณ์ยากลำบาก”
เมื่อถึงตรงนี้ ชาวฟินน์มักจะเล่าต่อ ถึงความสำเร็จที่มาจาก “ซิสุ” เช่นชัยชนะครั้งสำคัญในสงครามหรือเกมกีฬา..และเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุด ก็คือชัยชนะของฟินแลนด์ที่มีเหนือสหภาพโซเวียตในสงครามฤดูหนาว(Winter War)ในปี1940..ซึ่งนิตยสาร Time..บรรยายถึงคุณสมบัติความไม่ย่อท้ออันเป็นเอกลักษณ์นี้ไว้ว่า.. “คนฟินน์มีสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ซิสุ ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของการฮึดสู้..และความกล้า..ความห้าวหาญและความดื้อดึง การยืนหยัดต่อสู้หลังจากที่คนอื่นๆ คงจะยกธงขาวไปแล้ว..และการรบด้วยปณิธานแห่งชัยชนะ..คนฟินน์บอกว่า ซิสุ คือ..จิตวิญญาณแบบฟินน์ แต่ที่จริงคำนี้ลึกซึ้งกว่านั้นมาก”
มีข้อคิดทางการศึกษาของ “บาร์บารา ชไนเดอร์”..ที่ “พันต์ซาร์” ศรัทธาและนำมาอ้างอิงถึง..เธอเป็นศาสตราจารย์ที่คณะศึกษาศาสตร์และภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตด..ผู้เน้นศึกษาในเรื่องผลกระทบของบริบททางสังคมต่อความสามารถทางวิชาการและความอยู่ดีมีสุของวยรุ่น ตลอดจนได้ศึกษาในเรื่อง ซิสุ จากฟินแลนด์ อย่างจริงจังด้วย
“เราพบว่า เมื่อต้องเผชิญความ ท้าทายที่ยากกว่าระดับของตัวเอง เด็กอเมริกันมีแนวโน้มที่จะล้มเลิกสูงกว่า ในขณะที่เด็กชาวฟินน์ล้มเลิกน้อยกว่ามาก พวกเขาจะยืนหยัดได้นานกว่า แม้ระดับความ ท้าทายจะสูงยิ่ง” นั่นคือประโยคความคิดที่สำคัญและให้ความกระจ่างใสเชิงเปรียบเทียบในเชิงประจักษ์..โดยเฉพาะกับบริบทที่อเมริกา
.."ถ้าคุณไปอเมริกาเครื่องมือที่จะช่วยบอกตัวตนของคุณ จะมีหลายอย่าง ซึ่งก็รวมถึงความเป็นปัจเจกนิยมกับบริโภคนิยม..ใครๆก็ประสบความสำเร็จได้..ขอแค่คุณทำงานหนัก”..
แต่..สำหรับในฟินแลนด์ ทุกคนยังคงเดินหน้าต่อไป ในเวลาที่ทุกข์ยาก ตลอดจนในทุกๆสถานการณ์..ความแข็งแกร่งแบบนี้ ทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่า..เราสร้างความแข็งแกร่งให้ตนเองได้..เพื่อรับมือกับทุกสิ่งอย่างที่ต้องเจอ... “ถ้าคุณดูประวัติศาสตร์ของฟินแลนด์ ภาวะข้าวยากหมากแพง การต่อสู้เพื่อเอกราช และ สภาพอากาศ..คุณจะเห็นว่า ผู้คนที่นี่รอดมาได้ ก็ด้วยความแข็งแกร่งภายในที่เรียกว่า ซิสุ ซึ่งมันไม่เหมือนกับความมุ่งมั่นเสียทีเดียว..”
ชไนเดอร์..ยังได้ศึกษาถึงว่า..ทำไมนักเรียนบางคนถึง..ยอมแพ้ ขณะที่อีกหลายๆคนสู้ต่อ..เธอและเพื่อนร่วมงานชาวฟินน์ใช้เวลาถึง 5 ปีในการศึกษาถึงเรื่องประสบการณ์ทางอารมณ์และสังคมในแวดวงการศึกษา..ผลการศึกษาระบุว่าการที่ เด็กชาวฟินน์ ไม่ล้มเลิกเมื่อเจออุปสรรคที่หนัก..นั่นถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องด้วยเหตุผลในหลายประการ “เรารู้ว่านักเรียนในอเมริกา เบื่อและเลิกสนใจ สิ่งต่างๆง่ายมากในโรงเรียน และเราต้องพัฒนาสิ่งที่ท้าทายขึ้น สำหรับระดับทักษะความสามารถของพวกเขา เราสนใจด้วยว่า จะทำให้ผู้เรียนสนใจเรียนรู้เชิงสังคม อารมณ์ และ วิชาการ ในวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นได้อย่างไร..ตอนนี้ฟินแลนด์ยอดเยี่ยมมากในเรื่องวิทยาศาสตร์ ในทางกลับกัน นักเรียนอเมริกันล้มเลิกความสนใจด้านนี้เมื่อจบมัธยมปลาย ซึ่งย่อมน่ากังวลสำหรับทั้งตัวเด็กและสังคมโดยรวม..” เหตุนี้จะต้องทำอย่างไรให้แน่ใจได้ว่าว่า..เด็กๆทั้งหลายจะให้ความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างทั่วถึง..
“เราต้องฝึกเมตตาตัวเอง และเห็นอกเห็นใจการต่อสู้ ของคนอื่นไปด้วย”
“ซิสุ” ..ล้วนเกิดขึ้นในหลากหลายอาการแห่งการกระทำในชีวิตของมนุษย์..ขี่จักรยาน ทำสวน เข้าป่าฯ เหล่านี้ถือเป็นภาพแสดงทางจิตวิญญาณอันมีคุณค่าของมนุษย์ที่ “ชาวฟินน์” ได้ถักทอสู่ความเป็นความหมายอันลึกซึ่งของชีวิต...มันเป็นทั้งตราประทับ และ สัจธรรมแห่งการปฏิบัติของชีวิตระคนกัน...!
คำถามในท้ายที่สุดที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญแห่งชีวิตเพื่อค้นหาคำตอบ..ว่าทำไมชีวิตถึงได้หันมาสนใจ “ซิสุ” อย่างทุ่มเทและจริงจัง.. “ชไนเดอร์” ได้ตอบข้อคำถามนี้แก่ “พันต์ชาร์” อย่างน่าพิเคราะห์ว่า..
“เรากำลังเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า สภาพอากาศเริ่มไม่เสถียร โลกเปลี่ยนไปแล้ว..ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาวะโลกร้อน..เราจะต้องพึ่งคนรุ่นใหม่ พวกเขาต้องทดลองและลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ทั้งยังต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับอนาคตแบบที่กำลังเป็นไป..เราอยากรู่ว่า จะสร้างคนรุ่นใหม่คิดอย่างผู้ประกอบการได้อย่างไร และทำอย่างไร พวกเขาจึงจะเข้าใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แบบจำลอง และ เข้าถึงทักษะต่างๆ ที่ต้องใช้เพื่อทำให้โลกนี้อยู่รอด และอุดมสมบูรณ์ในวันข้างหน้า..”
จริงๆแล้ว “ซิสุ” สอนกันได้ไหม.? “ชไนเดอร์” ได้ตอบว่า..ไม่แน่ใจ..!..
แต่ “ซิสุ” ..นั้นได้ปรากฏในกลุ่มคนซึ่งอยู่ในสถานที่และบริบทเฉพาะ ทั้งยังเป็นเอกลักษณ์ของชาติเหมือนเป็นแนวทางชีวิต.. “ฉันคิดว่าการไม่ถอยของฉัน.. “ซิสุ” เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จในการวัดระดับของ PISA และประสบความสำเร็จในฐานะประเทศ ทั้งที่มีประชากรน้อย..ประกอบกับการที่พวกเขาลงทุนเรื่องมนุษย์อย่างยิ่ง..พวกเขาลงทุนเพื่อเรื่องการศึกษาจริงๆ”..
นี่คือหนังสือ..ที่บอกต่อมนุษยชาติอย่างเงียบงัน แต่สงบงามในทุกๆกระบวนการที่พาดผ่านปัจจัยแห่งความหมายอันหยั่งลึกของชีวิต แท้จริงเราเป็นใครในใคร..และ โลกเป็นอะไรในอะไร.. ณ มิติความหมายอันยากยิ่งต่อการอธิบายและสร้างความหมายอันถ่องแท้ของเรา..เหตุ..จึงต้องค่อยเรียนรู้ในรับรู้ไว้ในระหว่างวันต่อวัน..เพื่อส่งผลในระยะยาวให้ได้ในที่สุด
“กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์” ในฐานะผู้แปล...เปลือกหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาแปลเป็นภาษาไทย..ด้วยความตั้งใจยิ่ง..เพื่อหวังถึงว่า “ซิสุ..” จะช่วยเป็นพลังใจและเป็นแนวทางให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างกล้าหาญและกล้าแกร่งกว่าเดิม..
เหตุนี้..ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดทุกคนสามารถใช้ “ซิสุ” ที่ดีได้ อันหมายถึง ความแข็งแกร่งในชีวิตประจำวัน..เพื่อให้ชีวิตแข็งแรง และมีความสุขขึ้นได้..การออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคยอย่างมีสติ ท้าทายตัวเองให้ลองเสี่ยงในทางบวก ลองสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ลองกิจกรรมที่ไม่เคยทำ และก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ และอารมณ์..ทั้งหมดนี้คือบททดสอบอันสำคัญของชีวิต..อันเกี่ยวเนื่องและพันผูกกับ “ซิสุ”
ว่ากันว่า ..บางทีแง่มุมที่สำคัญที่สุดของ “ซิสุที่ดี” ..ย่อมคือ อะไรที่เหมาะสมกับชีวิตของเรา.. การว่ายน้ำในหน้าหนาวหรือการขี่จักรยานทั้งปีอาจไม่เหมาะสมกับเรา..และทุกคน..แต่ “ซิสุ” ..ได้เน้นย้ำให้ทุกคนประจักษ์ว่า ..จิตวิญญาณของความไม่ย่อท้อนั้น มากับการพึ่งพิงตนเอง และการลงมือรับผิดชอบชีวิตของตนเอง..เพราะในโลกนี้ไม่มีใครที่จะเขียนเรื่องราว “ซิสุ”ของเราได้..นอกจากตัวเราเองเท่านั้น!!!
“ซิสุ...คือแรงบันดาลใจที่ได้รับการฝึกฝน..มันคือกล้ามเนื้อที่ต้องออกกำลังกายอยู่เสมอ ...”