Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ จับตาประธานเฟดแถลง
วันที่ 23 ส.ค.67 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 34.33-34.62 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนสิงหาคม และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) นั้นล้วนออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงไปบ้าง นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงกว่า -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,470 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยแถวโซน 2,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำนั้นเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ดูไม่น่ากังวลมากนัก
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลงบ้าง ก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด นอกจากนี้ การทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นบ้างนั้น ก็ยังกดดันหุ้นธีม AI/Semiconductor เพิ่มเติม อาทิ Nvidia -3.7% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.67% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.89%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.35% โดยแม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงออกมาสดใสอยู่บ้าง รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare อย่าง Novo Nordisk +2.4% ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้างจากการขายทำกำไรหุ้นธีม AI/Semiconductor เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (ASML -1.2%) รวมถึงการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและเหมืองแร่ (BP -1.0%, Rio Tinto -1.1%)
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.90% อีกครั้ง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อนึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.80% จนกว่าตลาดจะรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด โดย ควรระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น หากผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดใหม่ เช่น มองว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า -100bps ในปีนี้ ซึ่งมีโอกาสสูงที่ถ้อยแถลงของประธานเฟดจะทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีมุมมองดังกล่าวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็เริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนวันศุกร์นี้ ทำให้ โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.2-101.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,510-2,515 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวด์ขึ้นได้บ้างมายังโซน 2,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาด
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole (ตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงเวลา 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) โดยเราประเมินว่า ประธานเฟดอาจส่งสัญญาณว่า เฟดพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ หลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่เฟดเริ่มเห็นสัญญาณความอ่อนแอในตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า ประธานเฟดจะไม่ได้ส่งสัญญาณว่า เฟดจะพร้อมลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง หรือ เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยได้อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ โดยประธานเฟดอาจเน้นย้ำว่า การตัดสินใจต่อนโยบายการเงินของเฟดนั้นจะขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดได้รับเป็นสำคัญ (Data Dependent)
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของทั้งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงผู้ว่าฯ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ด้วยเช่นกัน เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทั้ง ECB และ BOE
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยเฉพาะหากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในคืนวันศุกร์นี้ ไม่ได้สะท้อนว่า เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทให้ผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งอาจกดดันให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวลดลงและยังอยู่ในช่วงปรับฐาน (Correction) ได้ โดยหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงได้จริง ในกรณีดังกล่าวนั้น ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดนั้น เรามองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัว sideways แถวโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทได้ผันผวนอ่อนค่าลง รวมถึงอาจมีแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ทั้งนี้ เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทอาจมีโซนแนวรับแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ และหากประเมินด้วยปัจจัยเชิงเทคนิคัล เรามีความมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทอาจเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลง หลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจนในช่วงคืนที่ผ่านมา
โดยเราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.80 บาท/ดอลลาร์
#ดอกเบี้ย #ประชุมเฟด #ข่าววันนี้ #กรุงไทย