"นายกฯ”โพสต์แสดงความห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ฝาก"ภูมิธรรม-สุริยะ"ช่วยดูแลความเดือดร้อนผู้ประสบอุทกภัย เหตุยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ พร้อมส่งกำลังใจเจ้าหน้าที่และผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้าน“อนุทิน” เกาะติดทุกพื้นที่ใกล้ชิด พบ 7 จังหวัด ยังมีน้ำท่วม จ.น่านระดับน้ำสูงขึ้น กำชับ “ปภ.” ประสานหน่วยเกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ ขณะที่"สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" ประกาศเตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังมวลน้ำป่าไหลหลากท่วมฉับพลัน
เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัด โดยระบุว่า ได้ติดตามข่าวน้ำท่วมในภาคเหนือ โดยเฉพาะจ.น่าน เชียงราย และจ.พะเยา อย่างใกล้ชิดด้วยความเป็นห่วงและกังวลใจ ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่
แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการก่อนการเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้ส่งผ่านความห่วงกังวลนี้ไปยัง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีในขณะนี้ ซึ่งนายภูมิธรรมมีความห่วงกังวลเช่นเดียวกัน จึงได้สั่งการให้ระดมความช่วยเหลือให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาทุกข์แก่พี่น้องประชาชนโดยเร่งด่วน รวมทั้งวางแผนฟื้นฟูความเสียหาย
"ดิฉันทราบว่าคุณสุริยะ รองนายกรัฐมนตรี ก็ทราบถึงความห่วงกังวลของดิฉัน และท่านเองก็เป็นห่วงพี่น้องประชาชนเช่นกัน ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จัดเจ้าหน้าที่ลงช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ติดตามสถานการณ์ 24 ชั่วโมงค่ะ ดิฉันขอส่งกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยทุกครอบครัว และเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังขณะนี้ค่ะ"
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้รับทราบรายงานจาก นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าระหว่างวันที่ 16-22 ส.ค.67 เกิดสถานการณ์ใน 10 จังหวัด และ ณ เวลา 06.00 น. ของวันนี้ เหลือพื้นที่ซึ่งยังมีสถานการณ์อุทกภัยอยู่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ และอุดรธานี โดยสถานการณ์ส่วนใหญ่ระดับน้ำเริ่มลดลง หรือทรงตัว แต่มี 1 จังหวัด คือ จ.น่านที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้นายอนุทิน มีความห่วงใยความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัย กำชับกับอธิบดีปภ. ว่าแม้สถานการณ์ภาพร่วมจะคลี่คลาย แต่ด้วยขณะนี้ยังเป็นช่วงน้ำหลาก ขอให้ ปภ.ติดตามข้อมูลสภาพอากาศใกล้ชิด ประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชนให้พร้อม และไม่เพียงในพื้นที่เกิดภัยในปัจจุบันแต่ให้เตรียมพร้อมสำหรับพื้นที่อื่นๆ ในระยะต่อไป เช่นเดียวกับทุกปีจะเกิดอุทกภัยเริ่มจากภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีถัดไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อธิบดี ปภ. ได้รายงานให้ รมว.มหาดไทยทราบถึงการเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย ณ ปัจจุบันว่า ได้มีการสนธิกำลังความช่วยเหลือของสำนักงาน ปภ. แต่ละจังหวัด หน่วยทหารในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสา อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสำรวจความเสียหาย ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย มอบอาหาร น้ำดื่ม ขนย้ายสิ่งของยกของขึ้นที่สูงและเร่งระบายน้ำ เฉพาะส่วนของ ปภ. โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ได้สนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยกระจายในพื้นที่ต่างๆ ประกอบด้วย รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย 5 คัน เรือท้องแบน 17 ลำ เครื่องสูบน้ำ 14 นิ้ว 13 เครื่อง รถสูบส่งน้ำระยะไกล 2 คัน รถไฮดรอลิก 1 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 1 คัน
นอกจากนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กลาง (กอปภ.ก.) ได้สั่งการให้หน่วยงานดำเนินการภายใต้ภารกิจอย่างเคร่งครัดได้แก่ ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์เตือนภัยฯ ปภ. ให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์ น้ำฝน น้ำท่า หอเตือนภัย พร้อมดำเนินการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ในพื้นที่เข้าสนับสนุน เครื่องมือ อุปกรณ์และเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่อุทกภัย ด้านจังหวัดให้เร่งสำรวจความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด
สำหรับข้อมูลผลกระทบในพื้นที่ 7 จังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยนั้น พบว่า มีอุทกภัยใน 31 อำเภอ 105 ตำบล 541 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 12,777 ครัวเรือน
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมจ.เชียงราย ว่า จนถึงปัจจุบันยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้ว ทำให้หลายพื้นที่ยังคงถูกน้ำท่วม ดินไถลหรือสไลด์ทำให้บ้านเรือน ถนน สะพาน เป็นต้น ได้รับความเสียหายและแม้แต่หลายพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมและแห้งแล้วก็กลับมาท่วมซ้ำซากอีกหลายรอบ โดยล่าสุดที่ชุมชนริมฝั่งลำน้ำสายชายแดนไทย-เมียนมา ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นและเข้าท่วมเป็นรอบที่ 5 หลัง จากวันก่อนลดลงเล็กน้อยจนทำให้ตลาดการค้าโดยเฉพาะฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา กำลังจะทำความสะอาดแต่ปรากฎว่าวันนี้น้ำได้เข้าท่วมตัวเมืองท่าขี้เหล็กและตลาดอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่ตลาดสายลมจอยในฝั่ง อ.แม่สาย ที่ถูกน้ำท่วมตั้งแต่ทางเช้าไปจนถึงร้านค้าด้านในแต่พื้นที่หน้าด่านพรมแดนและพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในที่สูงยังไม่มีน้ำท่วมแต่ฝนยังคงตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
ด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งมีดินสไลด์ทับหลังคาร้านค้าตรงสามเหลี่ยมทองคำ หมู่บ้านสบรวก หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน โดยเป็นร้านค้าที่ตั้งอยู่ติดกับภูเขาวัดพระธาตุดอยภูเข้า เรียบถนนชายแดนติดต่อกับแม่น้ำโขง และฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้ดินอ่อนตัวและสไลด์ทับหลังคาร้านค้า 2-2 ร้าน ที่ตั้งอยู่เรียงรายติดกัน จนทำให้หลังคาพังเสียหายและกระเด็นตกลงไปบนถนน 1 ช่องจราจรด้วย
ขณะที่ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก เมย์ เมย์ ได้เผยแพร่ภาพถนนหมายเลข 1155 ตรงสามแยกตลาดนัดวันเสาร์ พื้นที่หมู่บ้านแผ่นดินทอง หมู่ 12 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย โดยแยกทางจะไปทางบ้านพญาพิภักดิ์ ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย มีสภาพแตกและทรุดเพราะดินไม่สามารถรับน้ำหนักผิวจราจรด้านบนทำให้ไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ ทั้งนี้จุดดังกล่าวเป็นสามแยกที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้านแผ่นดินทองไปทางภูชี้ฟ้า อ.เทืง-บ้านพญาพิภักดิ์ อ.ขุนตาล และ ต.ปอ อ.เวียงแก่น ส่วนเส้นทางอื่นๆ ยังคงสามารถใช้สัญจรได้ตามปกติ
ส่วนที่ จ.ลำปาง มีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายชั่วโมง โดยเฉพาะทางตอนเหนือของจังหวัด ขณะนี้ทำให้น้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วม บ้านแม่งอน ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งขณะนี้ผู้นำชุมชนกำลัง แจ้งเตือนประชาชนและลูกบ้านให้เก็บของขึ้นไว้ที่สูงและย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในที่ปลอดภัยในขณะนี้ฝนยังตกในเขตพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และยังรายงานว่าพื้นที่ ต.วังทรายคำ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง บนถนนสายวังเหนือพะเยา ช่วงกิโลเมตรที่721 มีฝนตกหนักทำให้ดินสไลด์ปิดทับถนนเส้นทาง มีต้นไม้ที่อยู่ริมสันเขานั้นล้มลงมาพร้อมกับดินและหินขวางถนน ล่าสุดชาวบ้านนำอุปกรณ์และรถแบคโฮ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังนำเครื่องจักรเข้าเคลียร์ถนนดังกล่าวแล้ว ส่วนที่ ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม. จ.ลำปาง มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมไร่ข้าวโพดนาข้าวของชาวบ้านได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 200 ไร่
ล่าสุด สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประกาศผลสำรวจติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้
ทั้งนี้ สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 24–30 ส.ค. ดังนี้ ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม สำหรับภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ส่วน ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ขณะที่ ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และจ.สตูล