ยกให้เป็นชาติเนื้อหอมที่สุดชาติหนึ่งแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เรา
สำหรับ “เวียดนาม” หรือ “ญวน” ที่ปรากฏว่า บรรดาหลายชาติมหาอำนาจ ต่างพากันตบเท้า เข้ามาสานสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ และกระชับสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มความแนบแน่นของความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิมแล้วให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ไล่ไปตั้งแต่ “สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่เป็นคู่แค้น คู่อาฆาต กันมาก่อน ในฐานะคู่สงครามในมหายุทธ์ที่มีชื่อว่า “สงครามเวียดนาม” เมื่อราวๆ เกือบ 6 ทศวรรษก่อน ก็เริ่มมาสมัครสมานผูกมิตรไมตรีกันขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ เมื่อช่วงปลายปี 2000 (พ.ศ. 2543) หรือเมื่อเกือบ 24 ปีก่อนหน้านี้เอง
โดยประธานาธิบดีคลินตัน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนประเทศเวียดนาม เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2000 และยังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่กองทัพสหรัฐฯ ถอนทัพออกจากเวียดนามเมื่อปี 1975 (พ.ศ. 2518) ซึ่งจากการเดินทางเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีคลินตัน เมื่อเกือบ 24 ปีที่แล้วมา ก็ส่งผลให้บังเกิดการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่บัดนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการทูต การค้า ธุรกิจสิ่งทอ การบินพลเรือน รวมไปจนถึงความร่วมมือด้านการต่อต้านและปราบปรามยาเสพติดระหว่างกันด้วย
หลังจากนั้น ทางการสหรัฐฯ กับเวียดนาม ก็ยกระดับเพิ่มความสัมพันธ์กันมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบรรดาผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เดินทางเยือนเวียดนามกันอยู่เป็นระยะๆ เช่น การเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันเมื่อปลายปีที่แล้ว และการเดินทางเยือนกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา
ขณะที่ บางชาติมหาอำนาจที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่แล้ว ก็กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อาทิเช่น “รัสเซีย” ซึ่งอดีตทั้งสองประเทศนั้น ก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมาแต่เดิม ตั้งแต่สมัยที่รัสเซีย ยังเป็นสหภาพโซเวียตรัสเซีย ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่เหมือนกัน และได้รับอิทธิพลกันมา นั่นคือ ลัทธิสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ซึ่งแม้สหภาพโซเวียตรัสเซีย ล่มสลายไปแล้วเมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 จนกลายเป็นรัสเซียในปัจจุบัน ความสัมพันธ์กับเวียดนาม ก็ยังคงแน่นแฟ้น และหวนกลับไปแนบแน่นเฉกเช่นเมื่อครั้งอดีต ถึงขนาดที่เวียดนาม ไฟเขียวเปิดท่าเรือคามรานห์ ให้รัสเซียเข้ามาใช้ประโยชน์เป็นฐานทัพเรือได้เหมือนครั้งที่ยังเป็นสหภาพโซเวียตรัสเซีย
โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็ได้เดินทางเยือนกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ซึ่งทางพล.ต.อ. โต เลิม ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ของเวียดนามให้การต้อนรับ ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นไปอย่างอบอุ่น พร้อมกับการกระชับความสัมพันธ์กันในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และที่ขาดไม่ได้ก็คือทางการทหาร ความมั่นคง อันรวมไปถึงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งทั้งสองประเทศมีความแน่นแฟ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ครั้งอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซียเรืองอำนาจแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความร่วมมือด้านโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ที่รัสเซียมีความถนัดอีกด้วย
เบ็ดเสร็จรวมแล้วทั้งผู้นำรัสเซียและผู้นำเวียดนามลงนามในข้อตกลงกระชับความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ร่วมกันถึง 10 ฉบับ
หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เพิ่งจรลีพ้นเขตแดนญวนได้ไม่กี่เพลา ก็ปรากฏว่า ถึงเวลาที่ผู้นำเวียดนาม ได้ออกมาไปเปิดตัวถึงความน่าพิศมัยของแดนญวนบ้าง เริ่มจากแดนมังกร คือ ประเทศจีน ที่ พล.ต.อ. โต เลิม ประธานาธิบดีเวียดนามคน เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ในอีกไม่กี่อึดใจต่อมา
โดยปรากฏว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่กล่าวกันว่า ทรงอิทธิพลแห่งยุคคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ ได้ให้การต้อนรับการเดินทางมาเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ของ พล.ต.อ. โต เลิม ประธานาธิบดีเวียดนาม เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้
ท่ามกลางบรรยากาศการต้อนรับเป็นไปอย่างอบอุ่นทั้งจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และบรรดาแกนนำคนอื่นๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อันถือได้เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกัน มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างๆ คล้ายคลึงกัน ตามระบอบการปกครองของทั้งสองประเทศ คือ จีนกับเวียดนาม
ด้วยบรรยากาศอันอบอุ่นและชื่นมื่นนี้ ก็ส่งผลทำให้การเจรจาความเมืองในการทำข้อตกลงต่างๆ ผ่านฉลุยไปได้ด้วยดี
โดยมีรายงานว่า ทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และพล.ต.อ.โต เลิม ประธานาธิบดีเวียดนาม ได้จรดปากกาลงนามในข้อตกลงต่างๆ ร่วมกันถึง 14 ฉบับ ระหว่างการพบปะกันที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ข้อตกลงทั้ง 14 ฉบับ ก็ครอบคลุมความร่วมมือด้านต่างๆ ได้แก่
การร่วมมือกับจีนในการสร้างเส้นทางรถไฟข้ามพรมแดน ซึ่งทางเวียดนาม ต้องการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเส้นทางรถไฟที่ใช้มาตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันไม่สอดรับกับระบบรถไฟรุ่นใหม่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถไฟความเร็วสูงที่หลายประเทศทั่วโลกใช้กันอยู่ในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเส้นทางรถไฟกันทั้งระบบข้างต้น ก็เพื่อใช้ในการโดยสารของผู้คน และการขนส่งลำเลียงสินค้าต่างๆ จากเวียดนามไปจำหน่ายในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มากตามจำนวนประชากร ในฐานะผู้บริโภค
โดยสินค้าที่ทางการเวียดนามจะส่งลำเลียงขึ้นไปลุยตลาดจีนนั้น ก็มีทั้งทุเรียน รวมไปถึงเนื้อจระเข้
นอกจากนี้ ในข้อตกลงทั้ง 14 ฉบับ ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการร่วมมือด้านอื่นๆ อีก เช่น การเงิน ระบบสาธารณสุข การสื่อสารมวลชน การลงทุนในเวียดนาม ที่ปรากฏว่า ธุรกิจจากจีนหลายแห่ง ต้องการเลี่ยงอุปสรรคมาตรการกีดกันการค้าทางภาษีศุลกากร ก็จะใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ รวมไปถึงความมั่นคง ในการที่จะลดดีกรีความร้อนแรงเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องพิพาททางดินแดนในทะเลจีนใต้