ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ปลาหมอคางดำจำนวนมหาศาล ในแหล่งน้ำสาธารณะริมทางเข้าสู่อาคารบำบัดน้ำเสียของโครงการชลประทานน้ำเค็มสำหรับการเลี้ยงกุ้ง บ้านถนนเขต หมู่ 4 ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งจับปลาเพื่อส่งขายให้กับจุดรับซื้อโดยสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยงบประมาณจากการยางแห่งประเทศไทย เพื่อไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ ที่นครศรีธรรมราช จะเป็นวันสุดท้ายเนื่องจากโควตาในการรับซื้อจำนวน 29 ตันจะเต็มในวันนี้ และยังไม่มีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม

โดยทีมข่าวได้เข้าไปสำรวจในบริเวณนี้พบว่ามีอาคารประกอบบ่อบำบัดนำเสียขนาดใหญ่จำนวน 4 อาคาร ทางเข้าเต็มไปด้วยพืชปกคลุม ชาวบ้านในพื้นที่ได้ฝ่าเข้าไปเพื่อหาจับปลาหมอคางดำ ภายในอาคารมีระบบท่อขนาดใหญ่หลงเหลืออยู่เพียงท่อสูบจำนวน 16 ชุด ส่วนมอเตอร์ระบบสูบน้ำไม่มีแล้ว ระบบไฟฟ้าถูกรื้อถอดจนหมด มีการตัดรื้อสายไฟฟ้าแรงสูง ร่องรอยพยายามถอดรั้วกันตกแสตนเลส ส่วนบริเวณบ่อบำบัดจำนวน 12 บ่อ และอาคารประกอบเต็มไปด้วยปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ บ่อพักรอบนอกเต็มไปด้วยลูกปลาชนิดเดียวกัน มีการยืนยันว่าอาคารบำบัดน้ำเสียเหล่านี้ใช้สำหรับบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงกุ้ง ก่อนหน้าอยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานน้ำเค็ม พื้นที่พัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างเสร็จเมื่อคราวเกือบ 20 ปีมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท หลังจากเปิดใช้ได้ไม่นานได้ถูกทิ้งร้างไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

ด้านนาย ภานุวัฒน์ พัฒนสมุทร ชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่าอาคารบำบัดน้ำเสียถูกสร้างขึ้นประมาณ 20 ปีก่อน ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งอาศัยของปลาหมอคางดำจำนวนมาก ช่วงแรกน่าจะเป็นราชการดูแล หลังจากนั้นเข้าใจว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจึงทิ้งไปเลยจนปัจจุบันแล้วกลายเป็นแหล่งอาศัยของหมอคางดำไปหมดแล้ว

ส่วนที่ศาลาหมู่บ้าน บ้านเนินหนองหงส์ ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้เดินทางลงพื้นที่มาเป็นประธานกิจกรรมลงแขกคลองครั้งที่ 3 โดยมีทุกภาคส่วนได้ระดมกำลังคนมาช่วยทั้งจากสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กรมราชทัณฑ์ส่งนักโทษชั้นเยี่ยมมาเป็นกำลังหลักในการล่าปลา ฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น และมีผู้บริหารบริษัทซีพีเอฟ ในพื้นที่พร้อมเจ้าหน้าที่มาร่วมกิจกรรม

ขณะที่ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ระบุว่ามาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้นได้มีมติ ครม.ออกมาแล้ว ส่วกนรณี 11 บริษัทนั้นกรมประมงได้ไปให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับอนุกรรมาธิการ อวงแล้วมีข้อมูลชัดเจนตั้งแต่ปี 60 ส่วนที่ลึกกว่านั้นมีข้อมูลบางอย่างไม่อยากเผยแพร่เนื่องจากมีผลต่อการดำเนินการในชั้นศาลปกครองกลาง

ส่วนข้อสังเกตในการระบาดนั้นไปซ้อนทับกับฟาร์มของบริษัทขนาดใหญ่ อธิบดีกรมประมงระบุว่าข้อสังเกตมีความหลากหลาย แตกต่างกันไปแต่ภายใต้ข้อสังเกตรับฟังได้แต่ไม่สามารถนำข้อสังเกตชี้ชัดได้นั้นยังทำไม่ได้ ส่วนต้นตอจริงๆแล้วนั้นกรมประมงเป็นส่วนราชการคือหลักที่กฎหมายให้อำนาจเราทำได้ แต่ถ้าไม่มีอำนาจทำไม่ได้ ในฐานะอธิบดียังต้องหาข้อเท็จจริงล่าสุดได้ส่งหนังสือไปยังกาน่าเพื่อขอชุดข้อมูลดีเอ็นเอ แต่มาถึงตรงนี้เราต้องเดินต่อไปข้างหน้าต้องดำเนินการตาม 7 มาตรการเพื่อเร่งแก้ปัญหา ซึ่งได้เห็นชอบในกรอบหลัก 450 ล้านบาท