สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

แม้เส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ได้ “บารมีพ่อ”ช่วยหนุนส่ง ทว่า นับจากนี้ไป น.ส.แพทองธารต้องเจอสารพัดแรงกดดันที่จะคลี่คลายได้ก็ด้วยการสร้างผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้น …*…

โดยปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนสะท้อนความเห็นผ่านซูเปอร์โพลต้องการให้รัฐบาลน.ส.แพทองธารแก้ไขทันทีนั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 เป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ รองลงมาคือร้อยละ 46.5 ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพ หลอกลวงประชาชน ร้อยละ 42.1 ปัญหาหนี้ในระบบ ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้อยละ 41.9 ปัญหาหนี้นอกระบบ ร้อยละ 36.9 ปัญหาอาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของประชาชน ร้อยละ 36.2 ปัญหาแหล่งเงินทุนผู้ประกอบการ นักลงทุนรายย่อย และ ขนาดกลาง ร้อยละ 34.4  ปัญหายาเสพติด และร้อยละ 12.0 ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ขยะมลพิษ สิ่งแวดล้อม …*…

จากปัญหาเร่งด่วนที่ว่ามานี้ น่าสังเกตว่าเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นลำดับแรก เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันว่า 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ประสบความสำเร็จในการเยียวยากอบกู้เศรษฐกิจตามที่ประชาชนมุ่งหวัง โดยข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  หรือสภาพัฒน์นั้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองปีนี้ ขยายตัวได้ 2.3% และคาดว่าตลอดทั้งปีจะขยายตัวอยู่ที่ราว 2.5% โดยได้รับอานิสงส์ จากการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 0.3% การส่งออกที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ 1.9% และบริการ 19.8% …*…

อย่างไรก็ตาม การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ 6.2% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 6.8% ตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือ 8.1% สอดคล้องกับการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะ 22.5% และการชะลอตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ส่วนการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลง 2.2% ตามการลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ ขณะที่การก่อสร้างโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐ ลดลง4.3% เทียบกับการลดลง 27.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลง 12.8% …*… 

“ยังมีปัจจัยในเรื่องของการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยการลงทุนในภาคอสังหาฯ ลดลงกว่า 50% ซึ่งมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงมาก เนื่องจากขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมทั้งความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารที่มีมากขึ้น”นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ …*…

สำหรับเรื่องหนี้ในระบบ อีกหนึ่งปัญหาที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลน.ส.แพทองธารเข้ามาช่วยเหลือโดยเร็วนั้น มีข้อมูลจากนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ว่าตัวเลขภาพรวมสินเชื่อผู้บริโภคทั้งระบบในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ อยู่ที่ 13.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่อยู่ที่ 13.45 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 3.5% สินเชื่อรถยนต์ลดลด 3.2% สินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 2.2% สินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 2.5% …*…

ขณะที่สถานะหนี้เสีย (NPL) ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ในไตรมาส2 อยู่ที่กว่า 1.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นหนี้เสียบ้านกว่า 218,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.2% รถยนต์กว่า 254,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7% บัตรเครดิตกว่า 68,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.5% ทั้งนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหนี้เสียเพิ่มขึ้น 5.7% โดยหนี้เสียบ้านเพิ่มขึ้น 9.8% รถยนต์เพิ่มขึ้น 6.6% บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 6.9% โดยคาดว่าภาพรวมของหนี้เสียจะยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องไปสู่ระดับ 1.2 ล้านล้านบาทได้ในไตรมาสที่3 นี้ เป็นผลจากที่การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก คนยังมีรายได้ไม่เพียงพอ ลูกหนี้ยังมีรายได้ไม่มากพอและบางส่วนรายได้ยังไม่กลับมาระดับก่อนโควิดปี 2562 …*…

การแก้ไขปัญหาเศรษกิจ โดยเฉพาะเรื่องหนี้ในระบบนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งพาได้รับความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลัก จึงต้องรอดูว่า น.ส.แพทองธารจะสื่อสารทำความเข้าใจได้ดีเพียงไรกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำหน้าที่ดูแล “อัตราดอกเบี้ย” และ “ค่าเงินบาท”ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ …*…