เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS เชียงราย (อาคารเจียงแสน) จังหวัดเชียงราย มีการแถลงข่าวการจัดการแข่งขันทักษะวิชาการและงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 โดยมี นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย พร้อมด้วย คณะกรรมการจัดงานและตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมแถลงข่าว นอกจากนี้ได้รับเกียรติจากนักกีฬาทีมชาติไทย โอลิมปิกเกม ปารีส 2024 "น้องเอสที" วารีรยา สุขเกษม นักกีฬาสเก็ตบอร์ดสาวน้อยมหัศจรรย์วัย 12 ปี มาร่วมกันให้กำลังใจนักเรียนและนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ เยาวชน พร้อมจัดเต็มกิจกรรมตลอดการจัดงานอีกด้วย

นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า ในนามเทศบาลนครเชียงราย เจ้าภาพจัดการแข่งขันทักษะวิชาการและงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 เรามุ่งมั่นพัฒนาให้เชียงรายก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน สร้างโอกาสและอนาคตที่ดีให้กับลูกหลาน โดยมุ่งพัฒนาด้านการศึกษาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) สอดคล้องกับที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เทศบาลนครเชียงราย เป็นภาคีเครือข่ายด้านเมืองแห่งการเรียนรู้แห่งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ.2562 โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีองค์ความรู้รอบด้าน ยึดหลักการ "การศึกษาพัฒนาคน คนพัฒนาเมือง เมืองพัฒนาคน"

นายวันชัย จงสุทธานามณี กล่าวอีกว่า การแข่งขันทักษะวิชาการและงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่นในครั้งนี้ ได้จัดให้มีการแข่งขันในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยแบ่งออกเป็นการประกวดแข่งขันสามัญ 108 รายการ 23 ประเภท และการประกวดแข่งขันอาชีวศึกษา 34 รายการ รวมทั้งหมด 142 รายการ อีกทั้งยังมีการมอบโล่รางวัลแก่ครูและผู้ดูแลเด็กดีเด่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แสดงศักยภาพของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์  และได้เรียนรู้พัฒนาตนเองในทุกด้าน

"เทศบาลนครเชียงรายมีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพและเจ้าบ้านที่ดี เรายินดีและพร้อมต้อนรับทุกท่านที่ได้มาเยือนเชียงราย ทั้งนักเรียนผู้ชนะจากการแข่งขันในระดับภาค ครูผู้ควบคุม ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคณะ รวมถึงผู้ปกครองจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 20,000 คน ผมในฐานะตัวแทนคณะกรรมการการจัดงานในครั้งนี้ ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าแข่งขัน พร้อมสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ กับกิจกรรม Workshop ทั้ง 6 ฐาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานเสวนาทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และการจัดแสดงผลงานทางวิชาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาและยกระดับศักยภาพผู้เรียนให้มีมาตรฐานในระดับสากลต่อไป"

สำหรับการแข่งขันทักษะวิชาการและงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2567 ณ สนามแข่งขันทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS เชียงราย (หอประชุมนครเชียงราย), มหาวิทยาลัยพะเยา วิทยาเขตเชียงราย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย, วิทยาลัยการอาชีพเชียงราย, วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย, เวทีรำวงสวนตุงและโคมนครเชียงราย, โรงเรียนเทศบาล ๖ นครเชียงราย, โรงเรียนเทศบาล ๗ ฝั่งหมิ่น และโรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่


 
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับในผลการตัดสินของผู้เข้าแข่งขัน ตลอดจนความโปร่งใสและเชื่อถือได้ เทศบาลนครเชียงรายและคณะผู้จัดงานได้เชิญคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ
จากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งในท้องถิ่นและทั่วประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันต่าง ๆ มากถึง 170 ท่าน การแข่งขันในบางประเภทได้รับเกียรติจากคณะกรรมการที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ เช่น กรรมการการแข่งขันการกล่าวสุนทรพจน์, การแข่งขันการร้องเพลงลูกทุ่ง และการแข่งขันร้องเพลงพระราชนิพนธ์ อาทิ อาจารย์พะเยาว์ พัฒนพงศ์, อาจารย์เสน่ห์
ศรีสุวรรณ, ดร.อภิชาติ ดำดี, อาจารย์ประยงค์ ชื่นเย็น (นายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย/ศิลปินแห่งชาติ), อาจารย์วิไล พนม (นายกสมาคมนักแต่งเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย), ผศ.ดร.สุรินทร์ เมทะนี (ครูเบิร์ด), อาจารย์ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, อาจารย์รุ่งโรจน์ ดุลลาพันธ์ และอาจารย์สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา (ครูโจ้) ร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ตัดสิน

นอกจากการแข่งขันทักษะวิชาการแล้ว ยังมีงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น โดยจะมี Workshop ที่ถูกนำเสนอในรูปแบบของท้องถิ่นผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีอย่างลงตัว โดยส่งเสริมให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านการรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ซึ่งถูกพัฒนาออกเป็น 5 ฐาน 6 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมการมองเห็น ทายภาพสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย กิจกรรมการลิ้มรส ทดลองชิมอาหารท้องถิ่น กิจกรรมการได้กลิ่น ทดลองดมกลิ่นชา และใบชา กิจกรรมการได้ยิน ทดลองฟังภาษาเหนือพร้อมเรียนรู้ความหมาย กิจกรรมการสัมผัส ทดลองประดิษฐ์หมอนใบชาหรือเพนต์ลายเครื่องเคลือบดินเผา และกิจกรรมการประเมินความฉลาดรู้ PISA

อีกทั้งยังมีการเสวนาทางวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา จากเวทีเสวนาทางวิชาการทั้ง 3 รอบ ในวันที่ 2-3 กันยายน 2567 เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับศักยภาพผู้เรียนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาท้องถิ่นสู่สากล ตลอดจนมีการจัดแสดงผลงานทางวิชาการของเจ้าภาพและหน่วยงานภายนอก โดยในส่วนของเจ้าภาพได้นำเสนอผลงานเด่นของเทศบาลนครเชียงราย และศักยภาพของแต่ละโรงเรียนในสังกัด อาทิ โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย โรงเรียนพระราชทานกิจกรรมเพื่อสังคม “ถุงผ้าเต้านมเทียม” ตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ และโรงเรียนเทศบาล 7 ฝั่งหมิ่น โครงงานเด็กเล็กทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกในการจัดแสดงผลงานทางวิชาการเพื่อเผยแพร่นวัตกรรมต่าง ๆ ให้แก่ผู้เข้าชมสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาหน่วยงานของตนเองได้

สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ : https://chiangrai.vichakan.net/ และ Facebook Page : ทักษะวิชาการนครเชียงราย ครั้งที่ 13