ปภ. ประสาน 43 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 24-30 ส.ค. 2567
วันที่ 22 ส.ค. 67 เวลา 13.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 43 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 24-30 ส.ค. 2567 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศพบว่าร่องมรสุมได้พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2567 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ได้แก่
ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ปางมะผ้า ปาย ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย) เชียงใหม่ (อ.แม่อาย เชียงดาว) เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย เชียงแสน เวียงแก่น ขุนตาล พญาเม็งราย เวียงชัย เทิง แม่ลาว) ลำปาง (อ.วังเหนือ งาว) พะเยา (อ.เมืองฯ แม่ใจ ภูซาง ปง เชียงคำ จุน เชียงม่วน) แพร่ (อ.เมืองฯ เด่นชัย สอง ลอง วังชิ้น) น่าน (อ.เมืองฯ เฉลิมพระเกียรติ ปัว ท่าวังผา เวียงสา ทุ่งช้าง เชียงกลาง บ่อเกลือ สองแคว ภูเพียง) อุตรดิตถ์ (อ.เมืองฯ ลับแล พิชัย ทองแสนขัน ท่าปลา) ตาก (อ.เมืองฯ ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง) สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม ศรีสำโรง กงไกรลาศ) พิษณุโลก (อ.ชาติตระการ นครไทย วังทอง เนินมะปราง) และเพชรบูรณ์
(อ.เมืองฯ หล่มเก่า หล่มสัก)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย (อ.นาแห้ว เชียงคาน ด่านซ้าย ปากชม) หนองคาย (อ.เมืองฯ สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย โพธิ์ตาก) บึงกาฬ (อ.เมืองฯ ปากคาด บุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา บึงโขงหลง) หนองบัวลำภู (อ.เมืองฯ ศรีบุญเรือง โนนสัง) อุดรธานี (อ.เพ็ญ บ้านดุง หนองหาน) สกลนคร (อ.เมืองฯ บ้านม่วง คำตากล้า วานรนิวาส สว่างแดนดิน พรรณานิคม) และนครพนม (อ.เมืองฯ บ้านแพง ศรีสงคราม ท่าอุเทน นาหว้า โพนสวรรค์ ปลาปาก ธาตุพนม)
ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อ.เมืองฯ สังขละบุรี ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์ ไทรโยค ด่านมะขามเตี้ย) ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง บ้านคา) นครนายก (อ.เมืองฯ ปากพลี บ้านนา) ปราจีนบุรี (อ.เมืองฯ ประจันตคาม นาดี กบินทร์บุรี) จันทบุรี (อ.เมืองฯ มะขาม ขลุง แหลมสิงห์) ตราด (อ.เมืองฯ บ่อไร่ เขาสมิง แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะกูด) เพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน หนองหญ้าปล้อง) และประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน ปราณบุรี บางสะพาน)
ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ คีรีรัฐนิคม พุนพิน พระแสง เวียงสระ) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ลานสกา ถ้ำพรรณรา ทุ่งใหญ่) พัทลุง (อ.เมืองฯ ปากพะยูน กงหรา ศรีนครินทร์ ควนขนุน) ระนอง (อ.เมืองฯ กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ สุขสำราญ) พังงา (อ.เมืองฯ คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) ตรัง (อ.เมืองฯ ปะเหลียน นาโยง กันตัง ห้วยยอด รัษฎา วังวิเศษ) และสตูล (อ.เมืองฯ ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า มะนัง)
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี เลย บึงกาฬ สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของลำน้ำงาว (จ.เชียงราย อ.เวียงแก่น) แม่น้ำสาย (จ.เชียงราย อ.แม่สาย) แม่น้ำอิง (จ.เชียงราย อ.เทิง) แม่น้ำน่าน (จ.น่าน อ.เมืองฯ เวียงสา เชียงกลาง ภูเพียง ท่าวังผา) แม่น้ำยม (จ.พะเยา อ.ปง เชียงม่วน จ.แพร่ อ.เมืองฯ สอง หนองม่วงไข่ จ.สุโขทัย อ.เมืองฯ สวรรคโลก ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย กงโกรลาศ จ.พิษณุโลก อ.เมืองฯ พรหมพิราม บางระกำ) แม่น้ำแควน้อย (จ.พิษณุโลก อ.นครไทย วัดโบสถ์) แม่น้ำป่าสัก (จ.เพชรบูรณ์ อ.หล่มสัก หนองไผ่) ลำน้ำก่ำ (จ.นครพนม อ.เรณูนคร) และแม่น้ำตราด (จ.ตราด อ.เมืองฯ เขาสมิง บ่อไร่)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 43 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในเวลา 24 ชั่วโมง พื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน รวมถึงให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น นอกจากนี้ ให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด
ขอบคุณ เพจ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM