วันที่ 22 ส.ค.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการทหาร มี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน มีวาระพิจารณากรณีทหารเกณฑ์ถูกลงโทษทางวินัยจนเสียชีวิต โดยได้เชิญ กองทัพบก , กรมสอบสวนคดีพิเศษ , สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด แต่ทาง กองทัพบก แจ้งเลื่อนการเข้าชี้แจงและจะมีหนังสือตอบมาในภายหลัง
ทั้งนี้นายวิโรจน์ เปิดเผยว่า กรรมาธิการ ได้เชิญผู้บังคับบัญชา ค่ายนวมินทราชินี หรือกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จังหวัดชลบุรี ผ่านกองทัพบก ในฐานะต้นสังกัด แต่ได้รับการปฏิเสธเข้ามาชี้แจง โดยมีข้อเท็จจริงจากกองทัพภาคที่1 ชี้แจงออกมาได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่กระทำความผิดซึ่งเป็นกำลังพล ระดับนายสิบและทหารกองประจำการ จำนวน 13 นาย ข้อหา ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย และดำเนินการทางวินัยต่อผู้บังคับบัญชาที่ขาดการกำกับดูแล จำนวน 3 นาย ตั้งแต่ระดับผู้บังคับหมวดจนถึงผู้บังคับกองพัน แต่จากการดูผลชันสูตรพบว่าอวัยวะภายในบอบช้ำ กระดูกสันหลังหัก และยังมีกระดูกหักอีกหลายซี่ น่าจะเป็นการพยายามฆ่ามากกว่า
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เคยข้อความร่วมมือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการจัดทำโครงการพลทหารปลอดภัย ที่มีความตั้งใจเพื่อไม่ให้มีพลทหารเสียชีวิตในค่าย การกระทำการเช่นนี้ถือเป็นการเย้ย ท้าทาย ไม่กลัวเกรงกฎหมาย ซึ่งปล่อยไว้ไม่ได้ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ต้องจริงจังกว่านี้ ในส่วนของกมธ.ได้ใช้กลไกของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ. อุ้มหาย ดำเนินการเรื่องนี้ด้วย โดยจะมีการชี้เบาะแสในกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ดังกล่าว หากพบว่าระดับผู้บังคับบัญชาไม่ได้ดำเนินการตามสมควร ต้องร่วมรับผิดด้วยกึ่งหนึ่ง และทหารที่ก่อเหตุต้องขึ้นศาลอาญาทุจริต ไม่ใช่ศาลทหาร จึงมีความยุติธรรมที่จะมอบให้กับผู้เสียหายอย่างมาก
“ส่วนตัว คิดว่าควรยกเลิกความรุนแรงในค่ายทหารได้แล้ว ความมีวินัย ความเข้มแข็งของพลทหารไม่จำเป็นต้องแลกด้วยการซ้อมทรมาน จึงขอตั้งคำถามซี่โครงหัก ปอดฉีกขาด อวัยวะภายในหลายแห่งบอบช้ำ แบบนี้คือการธำรงวินัยหรือไม่ และที่สำคัญผู้เสียชีวิตสมัครมาเป็นทหาร ต้องตั้งคำถามว่าคุณทำกับคนที่อยากมาเป็นทหารได้ยังไง เมื่อกองทัพไม่มา ผมก็ไม่มีหน้าที่ต้องไปหา ถือเป็นการเย้ยและท้าทายกรรมาธิการการทหาร เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรที่ต้องเกรงใจเหมือนกัน ว่าไปตามกฏหมาย” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ทนายความของครอบครัวผู้เสียชีวิต ได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการ นายทหารระดับนายพัน เชิญพ่อแม่ของพลทหารวรปรัชญ์ เข้ามาพูดคุยถึงเรื่องการรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนายทหารคนดังกล่าวในฐานะผู้บังคับบัญชาค่าย ได้ดูแลครอบครัวของผู้เสียหายอย่างดี ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ เช่น ค่าใช้จ่าย การประสานงานติดตามจับกุมผู้ต้องหา แต่ครอบครัวพลทหารวรปรัชญ์ ยืนยันว่ากองทัพบอกต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ เพราะเรื่องนี้เป็นการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยนายทหารคนดังกล่าว ขอร้องไม่ให้ญาติพลทหารวรปรัชญ์ ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกองทัพบก แต่ทนายความได้ยืนยันไปว่า เป็นสิทธิ์ของญาติที่จะฟ้องกองทัพได้ โดยมีการนัดหมายจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ย.นี้
นางนิชนันท์ วังคะฮาต สมาชิกพรรคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ กล่าวว่า มีพลทหาร ในค่ายนวมินทร์ฯ ส่งข้อความมาแจ้งเบาะแส เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก สาเหตุที่พลทหารวรปรัชญ์ถูกธำรงวินัยอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นคนช้า จึงมักจะถูกธำรงวินัยอยู่ ทั้งเตะ ต่อย กระทืบ ถูกสั่งให้เข้าเวรยาม 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง ถูกบังคับให้กินปัสสาวะตัวเอง จนป่วย เคยแจ้งหัวหน้าหน่วยแล้วแต่ถูกเพิกเฉย จนทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ ทนายได้เปิดเผยว่า ทางผู้บัญชาการค่ายนวมินทร์ฯ ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาในการดูแลเรื่องนี้ เพียงแต่ให้คำยืนยันกับญาติว่าจะดูแลพลทหารที่มาเป็นพยานให้ที่สุด เพื่อไม่ให้นายทหารที่ถูกดำเนินคดี เข้ามาข่มขู่หรือยุ่งเหยิงกับรูปคดีเด็ดขาด