วันที่ 22 ส.ค.67 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กล่าวแนวทางบริหารจัดการช่วงน้ำเหนือ-น้ำหนุนกรุงเทพมหานคร ในฤดูฝนปีนี้ว่า น้ำเหนือ-น้ำหนุน หรือฤดูน้ำหลากของกรุงเทพมหานคร เป็นช่วงที่ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสายต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือไหลรวมลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นจุดปลายน้ำก่อนระบายสู่ทะเล จากข้อมูลและการคาดการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปีนี้กรุงเทพฯ จะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลากวันที่ 31 ส.ค.นี้ โดย สนน.จัดการจุดรั่วไหลริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปแล้วมากกว่า 60 จุด จาก 120 จุด ตลอดจนจัดเรียงกระสอบทรายตลอดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมกระสอบทรายเพิ่มเติมให้พร้อม เพื่อเสริมความสูงแนวเขื่อนริมแม่น้ำในช่วงสิ้นเดือนนี้

 

"น้ำเหนือจากสุโขทัย แพร่ คาดว่าจะถึงกรุงเทพฯ สิ้นเดือนนี้ ยังมีเวลาเตรียมการอีกประมาณ 8-9 วัน ส่วนปริมาณน้ำยังคาดการณ์ไม่ได้ ต้องติดตามสถานการณ์น้ำเหนือเป็นหลัก เพียงแต่ว่าขณะนี้มีอุทกภัยหรือน้ำป่ามาที่แม่น้ำยม ซึ่งแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกั้น จะไหลผ่านนครสวรรค์ ชัยนาท ตรงเข้ากรุงเทพฯ จึงต้องติดตามส่วนนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง มีเขื่อนภูมิพลกั้น แม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ แต่ต้องดูสถานการณ์อื่นประกอบด้วย เช่น น้ำในภาคกลางยังน้อยหรือไม่ ปัจจุบันพบว่ายังมีน้อย ที่เขื่อนเจ้าพระยา ต้องติดตามจากนี้ทุกวัน"

 

นายสุราษฎร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ตรวจสอบความมั่นคงจุดเสี่ยงริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะช่องเปิดบริเวณวัดและท่าเรือต่าง ๆ ให้สำนักงานเขตและสำนักการระบายน้ำประสานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่เพื่อจัดเรียงกระสอบทราย และให้สำนักงานเขตแจ้งเตือนชุมชนริมแม่น้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ทำทางเดินชั่วคราวให้ชุมชน รวมถึงประสานกับสำนักอนามัยจัดเตรียมการดูแลประชาชน เช่น โรคน้ำกัดเท้า เป็นต้น

 

หากระดับน้ำมีความสูงมาก สนน.ต้องประสานกรมเจ้าท่า เพื่อลดความเร็วของเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และประสานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยทางน้ำ โดยหลักการ ในช่วงน้ำหนุนสูง สนน.จะหยุดสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา และปิดประตูน้ำในคลองทั้งหมด เพื่อไม่เพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้สูงขึ้น เช่น จากเดิมน้ำสูง 1.50 เมตร อาจขึ้นถึง 1.60 เมตร ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนริมแม่น้ำ อย่างไรก็ตาม หากแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนสูงประกอบกับมีฝนตกทำให้น้ำในคลองต่าง ๆ เพิ่มระดับ จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำในคลองควบคู่ไปด้วย โดยการปิดประตูน้ำในคลอง และใช้วิธีสูบน้ำออกปลายคลองลงแม่น้ำเจ้าพระยาจุดใกล้ทะเล ซึ่งต้องคำนวณปริมาณการสูบโดยละเอียด ไม่ปล่อยให้น้ำไหลเองตามธรรมชาติ เพื่อควบคุมระดับน้ำในภาพรวมทั้งหมด

 

"คลองต่าง ๆ ที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีประตูปิดทั้งหมด เพราะระดับดินเดิมต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปิดประตูน้ำแล้ว ยังต้องระวังเรื่องน้ำฝนด้วย ดังนั้น ในเดือน ก.ย. และ ต.ค. กรุงเทพฯ จะเจอทั้งน้ำเหนือและน้ำฝน ถ้าน้ำฝนมาก็ต้องสูบออก ถ้าน้ำหนุนมาด้วยต้องบริหารว่าจะยึดการสูบน้ำช่วงไหนเป็นหลัก อาศัยการบริหารจัดการโดยละเอียด และติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด"

 

ส่วนจุดกังวลหลัก ได้แก่ บริเวณร้านขนาบน้ำ เขตบางพลัด และบริเวณชุมชนวังหลัง ข้างวัดระฆังโฆสิตาราม เขตบางกอกน้อย เป็นจุดติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่พบปัญหาน้ำท่วมจากน้ำหนุนมานานหลายปี ปัจจุบันมีการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะบริเวณชุมชนวังหลัง ข้างวัดระฆังโฆสิตาราม ปัญหาคือ ยังมีแนวป้องกันน้ำบางจุดเสียหาย (ฟันหลอ) ความยาวประมาณ 30 เมตร ทำให้น้ำทะลักเข้าชุมชน โดยเฉพาะช่วงน้ำขึ้น ไม่สามารถสูบออกได้ เพราะเมื่อสูบไปแล้วน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวนกลับเข้าจุดฟันหลอดังกล่าว และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนใกล้เคียง ปัจจุบัน เจ้าของพื้นที่ (ร้านค้า) อนุญาตให้ กทม.เข้าไปปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว โดยสำนักการระบายน้ำ ได้รับงบประมาณปี 2567 จำนวน 10,990,000 บาท