อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เร่งเคลียร์เส้นทางค้าชายแดนไปช่องทางบ้านห้วยผึ้ง ต.ห้วยผา อ.เมือง ฯ หลังดินสไลด์ลงปิดทับเส้นทาง บ่อยครั้งกระทบการขนส่งสินค้าอย่างหนัก ขณะที่ สนทช.เตือนรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อต่ำวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก อส.ที่ประจำป้อมยาม/จุดตรวจบ้านทรายขาว ต.ห้วยผา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ว่า ได้เกิดดินภูเขาสไลด์ลงปิดทับเส้นทางระหว่างบ้านห้วยผึ้ง – ช่องทางจุดผ่อนปรนเพื่อการการค้าห้วยผึ้ง เนื่องจากช่วง 18-20 สิงหาคม 2567 ได้เกิดฝนตกต่อเนื่อง ต้นไม้ล้ม และดินสไลด์ ทำให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไป-มา ได้ โดยผู้ประกอบการค้าชายแดนได้สนับสนุน เครื่องจักร รถแบคโฮ เข้าดำเนินการ ปรับเกลี่ยดินสไลด์ เพื่อเปิดเส้นทาง และสามารถดำเนินการเปิดเส้นทางได้เมื่อเวลา 17.00 น.และยานพาหนะสามารถวิ่งผ่านได้เป็นปกติ

สำหรับเส้นทางสายดังกล่าวเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากแม่ฮ่องสอน ส่งออกไปยังประเทศเมียนมา และเป็นช่องทางการค้าหลักของจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุด ในห้วงฤดูฝนเป็นต้นมา พบว่า ในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะช่องทางบ้านห้วยผึ้งมีฝนตกชุกมาก ทำให้ดินภูเขาสไลด์ลงปิดทับเส้นทาง มาแล้ว 6 ครั้ง

ทางด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 11/2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยทาง สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 24 – 30 สิงหาคม 2567 ดังนี้

ในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ทั้ง 7 อำเภอได้แก่  1.อำเภอปาย 2.อำเภอปางมะผ้า  3.อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน 4.อำเภอขุนยวม 5.อำเภอแม่ลาน้อย 6.อำเภอแม่สะเรียง และ 7.อำเภอสบเมย

 

โดยได้เน้นให้เฝ้าระวังพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ริมน้ำ และพื้นที่เกิดเหตุซ้ำซาก รวมถึงอำเภออื่นที่มีฝนสะสม/ โดย สทนช. จะดำเนินการทำแผนที่คาดการณ์รายวันและสามวัน  จึงขอให้หน่วยงานในพื้นที่นำแผนที่คาดการณ์ไปประกอบในการเฝ้าระวัง)

  

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน (สภาพพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ควรเฝ้าระวังเมื่อเกิดฝนตกหนักสะสม 24 ชั่วโมง มากว่า 40 มิลลิเมตร ในพื้นที่ให้แจ้งเตือนศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการณ์ฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเมื่อเกิดฝนตกหนัก สะสม 24 ชั่วโมง เกิน 70 มิลลิเมตร ให้ชุดปฏิบัติการในระดับต่างๆ เข้าพื้นที่ทันที )

 

2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและพนังกั้นน้ำ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ให้พร้อมใช้งาน และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 

 

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

 

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์