วันนี้ 22 สิงหาคม 2567 สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดน่าน เข้าสู่วิกฤต ขยายวงกว้างใน 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ,ทุ่งช้าง,เชียงกลาง,ปัว,ท่าวังผา,บ้านหลวง ,เวียงสา ,นาน้อย และ,เมือง และอำเภอภูเพียง บ้านเรือนราษฎรถูกน้ำท่วมรวมแล้วกว่า 1 พันหลังคาเรือน โดยน้ำท่วมหนักสุดที่อำเภอท่าวังผา วงกว้าง ใน10 ตำบล 68 หมู่บ้าน  โดยเฉพาะที่บ้านท่าวังผา ม.2   และ ม.7  และบ้านอาฮาม ม3. สบยาว ม4  ต.ท่าวังผา  บ้านนาหนุน  ต.ผาตอ  และที่ บ้านดอนตัน ,สบหนอง ต.ศรีภูมิ  ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร   ชาวบ้านมากกว่า 700 หลังคาเรือน ถูกน้ำท่วมสูง โดยบ้านชั้นเดียวน้ำท่วมมิดหลังคา  และระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอยู่  น้ำขึ้นไปไว้ชั้น 2 บ้าน  ไม่สามารถขนหนีน้ำได้ ต้องปล่อยให้จมน้ำ  และเตรียมอพยพไปอาศัยอยู่บ้านญาติ และที่จุดอพยพที่ทางอำเภอจัดเตรียมไว้ที่โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม


ขณะที่ระดับน้ำแม่น้ำน่าน วัดที่ N64 สถานีผาขวาง ระดับ 12.20 เมตร (ระดับวิกฤต 9.5 เมตร) สถานีผาขวางมีเพิ่มขึ้น 20 cm ต่อชั่วโมง   และไหลลงสู่เขตอำเภอเมืองน่าน ที่จุดวัดที่ N1 สถานีสะพานพัฒนาภาคเหนือ ระดับ 8.30 เมตร (ระดับวิกฤตหลังสร้างพนังกั้นน้ำ 9 เมตร)   โดยระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 5 cm ต่อชั่วโมง   ส่งผลให้น้ำได้ทะลักจากรอยรั่ว และดันท่อระบายน้ำ เข้าพื้นที่โดยรอบเขตเทศบาลเมืองน่าน   โดยนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน  ได้ประกาศแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนบ้านเสี่ยง เก็บข้าวของ ย้ายรถยนต์ ยานพานะ ขึ้นสู่ที่สูง ทั้งนี้คาดการณ์สถานการณ์น้ำค่อนข้างหน้าห่วง ปริมาณน้ำมีแนวโน้มท่วมหนักเทียบเท่าปี 2554   เนื่องด้วยมีฝนตกสะสม ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน  และลำน้ำสาขา ลำน้ำห้วยลี่ เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง  เครื่องสูบน้ำ ณ คลองเจ้าฟ้า อาจจะระบายน้ำปริมาณมากในตัวเมืองไม่ทัน ซึ่งขณะนี้ได้ปิดประตูป้องกันน้ำทุกจุด และเร่งระบายน้ำออกด้วยเครื่องสูบ ทั้ง 3 จุดแล้ว  และขอเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพิ่มบริเวณปากคลองเจ้าฟ้า  เตรียมพร้อมรับมือกับมวลน้ำขนาดใหญ่ที่กำลังไหลลงมาสู่เขตเมือง 


อย่างไรก็ตามวันนี้... หลายโรงเรียนในพื้นที่น้ำท่วม ได้ประกาศหยุดการเรียนสอนถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2567  และทางจังหวัดน่าน โดยนายชัยนรงค์  วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้เร่งเปิดศูนย์ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเร่งนำอาหาร น้ำดื่มเข้าช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมขังตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา