นายสุธน สุวรรณภานนท์ ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร กล่าวถึงกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยื่นหนังสือทวงหนี้ค่าเช่าตลาดนัดจตุจักรเป็นเงินเกือบ 700 ล้านบาทว่า กทม. ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ในการบริหารตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยภายในตลาดนัดจตุจักร และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการ ปัจจุบันยังไม่ได้ลงนามสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท. อยู่ระหว่างเจรจาขอเยียวยาค่าเช่าดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด ตั้งแต่ปี 63-65 ต้องปิดประเทศ ทำให้ผู้ค้าไม่สามารถออกไปทำการค้าขายได้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย กทม.จึงยกเว้นค่าเช่าให้ผู้ค้าและยังลดราคาค่าแผงค้าลง 50% ทำให้ กทม.สูญเสียรายได้เป็นเงินกว่า 400 ล้านบาท โดยจะมีการเจรจากับ รฟท.เพื่อขอลดค่าเช่าที่ 300 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม สำนักงานตลาดได้เตรียมเงินเพื่อชำระค่าเช่าไว้แล้ว หาก รฟท.เห็นชอบกับการเจรจาดังกล่าว
สำหรับวัตถุประสงค์ MOU นั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยภายในตลาดนัดจตุจักร และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการในตลาดนัดจตุจักร โดยการโอนความรับผิดชอบการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรจาก รฟท.เป็นความรับผิดชอบของ กทม. ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดย รฟท.ตกลงให้ กทม. เช่าที่ดิน เพื่อบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรทั้งหมดบนพื้นที่ขนาด พื้นที่ 68 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา กำหนดอัตราค่าเช่าปีละ 169,423,250 บาท ระยะเวลาให้เช่าไม่เกินปี 2571 และให้มีการพิจารณาทบทวนค่าเช่าร่วมกันทุก ๆ 3 ปี และมีการปรับเพิ่มไม่เกินอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสัญญาเช่าต่าง ๆ จำนวน 32 สัญญา ที่ รฟท. มีอยู่ในปัจจุบันนั้น โอนสิทธิและหน้าที่ให้ กทม. ไปทั้งหมดเพื่อให้การบริหารจัดการตลาดมีประสิทธิภาพ พร้อมให้ กทม. เริ่มเข้าบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.61 เป็นต้นไป โดยกำหนดอัตราค่าเช่าแผงค้าละ 1,800 บาท/แผง/เดือน จากเดิมประมาณ 1,900 บาท