วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหาสรรพากรพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง กับพวก คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการส่งออกซึ่งไม่มีสิทธิได้รับ และนายพิสัย นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และนายกฤตภัค นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ด่านศุลกากร หนองคาย กับพวก ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกโดยทุจริต เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 613,877,793.31 บาท โดย
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2553 - 2556 นายชัยโรจน์ หรือนายชัยโรจน์ กับพวก และน.ส.จรรยา หรือน.ส.ณฐาณัฏฐ์ กับพวก ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดขึ้นหลายแห่งเพื่อแสดงว่าเป็นผู้ประกอบกิจการซื้อขายและส่งออกสินค้าประเภท คอมพิวเตอร์ และจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่มิได้ประกอบกิจการจริงและมีวัตถุประสงค์ เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ โดยบริษัทที่จัดตั้งเป็นผู้ขายภาย ในประเทศได้ออกใบกำกับภาษีซื้อให้กับบริษัท ผู้ส่งออกทั้งที่ไม่มีการซื้อขายกันจริง และบริษัทที่จัดตั้งเป็นผู้ส่งออกได้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศลาว โดยจัดทำ เอกสารใบกำกับสินค้า (Invoice) อันเป็นเท็จว่ามีการส่งสินค้าออกสำหรับผ่านพิธีการศุลกากร
โดยมีนายพิสัย วงษ์ศิริ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และนายกฤตภัค หนูเพชร นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ด่านศุลกากรหนองคาย ปฏิบัติหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาออก ทั้งที่สินค้าที่ส่งออกไม่ตรงกับที่สำแดงไว้ในรายการใบขนสินค้า โดยได้รับค่าตอบแทนในการดำเนินการเป็นเงินจำนวนครั้งละ 40,000 – 80,000 บาท ทำให้บริษัทผู้ส่งออกได้ไป ซึ่งหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลัง การตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรและได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 แล้วนำไปใช้เป็น เอกสารประกอบในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ต่อกรมสรรพากร โดยแสดงให้เห็นว่ามีภาษีซื้อ ตามใบกำกับภาษีซึ่งถูกเรียกเก็บและนำส่งต่อกรมสรรพากร มากกว่าภาษีขาย
และสรรพากรพื้นที่ที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย นางธนาพัณ สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 2 นางกัญญา สรรพากรพื้นที่ สมุทรสาคร 1 นายบุญเสริม สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 21 และนายนิตย์ สรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 5 กับพวก ได้อนุมัติให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทผู้ส่งออก รวมจำนวน 17 ราย โดยไม่มีสิทธิได้รับ เป็นเหตุให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 613,877,793.31 บาท
นายนิวัติไชย กล่าวต่อว่า การกระทำของสรรพากรพื้นที่ ประกอบด้วย นางธนาพัณ สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 2 นางกัญญา สรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 1 นายบุญเสริม สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 21 นายนิตย์ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 และการกระทำของผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนสรรพากร พื้นที่ที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 154 และ มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้วแต่กรณี และ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ส่วนการกระทำของเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ซึ่งดำรงตำแหน่งนักตรวจสอบภาษีชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ รวม 10 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 และ มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 มาตรา 147 และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้วแต่กรณี และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และการกระทำของนายพิสัย นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และนายกฤตภัค นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 154 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 91 มาตรา 147 และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172)
สำหรับการกระทำของนายชัยโรจน์ หรือนายชัยโรจน์ น.ส.จรรยา หรือน.ส.ณฐาณัฏฐ์ และเอกชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวม 55 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด ฐานฉ้อโกง และฐานความผิดอื่น ที่เกี่ยวข้องตามประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี และให้แจ้งกรมสรรพากร และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 82 วรรคสอง