ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัดงานครบรอบ 45 ปีการสถาปนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้ชื่อ “45 ปี แห่งการพัฒนา 72 พรรษา มหามงคล” ภายในงานจัดแสดงผลงานความสำเร็จจากการพัฒนาต่อยอดแนวพระราชดำริและการขยายผลไปสู่ประชาชนและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมของ 13 หน่วยงาน โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานเปิดงาน โอกาสนี้ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้

ในงานจัดแสดงนิทรรศการ Cassava entire by Khao Hin Sorn  นิทรรศการสืบสานการพัฒนา ผลิตพืชก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าผลผลิต นิทรรศการปลานิลของพ่อ นิทรรศการศิลปาชีพที่บ้านพ่อ  นิทรรศการการพัฒนาสวนรุกขชาติเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดปริมาณคาร์บอนสู่ความยั่งยืน และนิทรรศการอัตลักษณ์สมุนไพร สวนสมุนไพรเขาหินซ้อน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม การประกวด Eco Printing การพิมพ์ลายผ้าด้วยใบไม้ การวาดภาพระบายสี การประกวดภาพถ่าย การประกวด Content บอกรักแม่ การแข่งกรอกวัสดุปลูกลงในถุงดำ ที่ได้รับความสนใจจากผู้เยี่ยมชมงานในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น เช่น การผลิตและใช้เชื้อจุลินทรีย์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช (เชื้อราไตรโคเดอร์มา) การปลูกผัก การทำก้อนเชื้อเห็ด  การทำน้ำมันไพล การทำยาดมสมุนไพร การทำคอกเทลสลัดโรล แหนมหมูเห็ด โดนัทจิ๋ว และมีการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรขยายผลหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ

นางกาญจนา พึ่งเกษม เกษตรกรหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หนึ่งในเกษตรกรขยายผลจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้นำผลผลิตมาจำหน่ายภายในงาน เปิดเผยว่า นำความรู้ที่ได้รับจากศูนย์ฯ ไปทำในพื้นที่ของตน ซึ่งเดิมทำการเกษตรเชิงเดี่ยวได้ปรับเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่ 7 ไร่ 1 งาน ประกอบด้วย ปลูกพืชผักสวนครัว เพาะเห็ด เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ มีสระน้ำขุด จำนวน 2 บ่อ สำหรับทำการเกษตรและเลี้ยงปลา  ทำให้มีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3,000 - 4,000 บาท ต่อเดือน

“รู้สึกดีใจที่มีศูนย์ฯ แห่งนี้  ทำให้เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการประกอบอาชีพ และได้รับปัจจัยการผลิตด้านต่าง ๆ ที่กลายเป็นทุนตั้งต้นในการเริ่มทำการเกษตร ซึ่งตอนนี้ได้เข้าร่วมกลุ่มกับเกษตรกรรายอื่น ๆ เพื่อขยายช่องทางในจำหน่ายผลผลิตต่าง ๆ เช่น กลุ่มเห็ด กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และตอนนี้กำลังฝึกฝนด้านอื่น ๆ เช่น ทําปลาส้ม ปลาร้า โดยมีสมาชิกในกลุ่มที่มีความรู้และความสามารถด้านนี้มาช่วยสอนให้” นางกาญจนา พึ่งเกษม กล่าว

นางวิภารัตน์ ช่วยแก้ว ราษฎรหมู่ที่ 9 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เผยว่า  อดีตทำงานบริษัทเอกชน ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดได้กลับมาอยู่บ้าน และใช้พื้นที่ 10 ไร่  2 งาน ทำการเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชสมุนไพร อาทิ ขมิ้น ไพล พร้อมกับเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน หลังจากเก็บดอกเห็ดแล้วก็นำก้อนเชื้อไปหมักเป็นปุ๋ยใส่บำรุงต้นไม้ต่อได้ โดยความรู้และปัจจัยการผลิตเบื้องต้นได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

“จากการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในด้านการปรับปรุงบำรุงดิน อาทิ การใช้หญ้าแฝกในการบำรุงดิน  ทำให้สามารถปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้ โดยเฉพาะพืชสมุนไพร ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทุกวันนี้มีความหวัง และมีความมั่นคงในชีวิต สามารถพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้จะเป็นแม่บ้านก็สามารถมีรายได้ที่มั่นคงได้ ตนเองมีความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ และเฝ้าติดตามการประกาศของแต่ละกิจกรรม ของศูนย์อย่างต่อเนื่อง หากมีการเปิดโครงการฝึกอบรมอาชีพเรื่องอะไรก็จะรีบสมัครเข้ามาอบรมทันที เพราะทำให้มีความรู้และได้ช่องทางในการทำกินเพิ่มมากขึ้น ดีใจที่มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ แห่งนี้ ”  นางวิภารัตน์ ช่วยแก้ว กล่าว