ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (Sorotherodon melanotheron) หรือ Blackchin tilapia แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั้งในภูมิภาคอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ หรือในทวีปอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลีย ล้วนเคยมีประสบการณ์กับปัญหาสายพันธุ์ปลาต่างถิ่นกลุ่มรุกราน (Invasive species) ชนิดนี้ ซึ่งแต่ละประเทศมีวิธีการแตกต่างกันในการกำจัดปลาอย่างเป็นระบบและเหมาะสม ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ตลอดจนให้ความรู้ในการปรับวิถีชีวิตของคนให้อยู่กับปลาได้อย่างสมดุล และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อรักษาแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ไว้ให้ยั่งยืน
ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่มีถิ่นฐานมาจากประเทศที่อยู่ตามชายฝั่งของแอฟริกาตะวันตก เช่น กานา แคมเมอรูน กินี เซเนกัล ไลบีเรีย แซมเบีย เซียร์ราลีโอน เป็นต้น เป็นปลาที่ทนต่อความเค็มได้ในระดับสูง สามารถเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย รวมถึงน้ำจืด กินพืชและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร แพร่พันธุ์รวดเร็วเพราะตัวผู้จะอมไข่ไว้ในปาก ทำให้อัตราการรอดของลูกปลาสูง
สำหรับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในฟิลิปปินส์ หัวหน้าหน่วยงานการประมงและทรัพยากรทางน้ำ (Bureau of Fisheries and Aquatic Resources) กล่าวว่า ปลาชนิดนี้มีการตั้งชื่อในภาษาพื้นเมืองว่า “ปลากลอเรีย” ตามชื่อของอดีตประธานธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย มีการพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในเมืองบาตาอัน (Bataan) ก่อนปี พ.ศ.2556 แต่ไม่พบว่าใครเป็นผู้นำเข้ามา ซึ่งปลาชนิดนี้ถูกพบในร้านขายปลาสวยงามและมีการปล่อยปลาสู่แหล่งน้ำ จนกระทั่งพบการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติของเมืองนี้ ที่สำคัญยังพบปลาหมอคางดำเข้าไปแทนที่ปลานวลจันทร์ทะเล (Milkfish) ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปลาในเมืองนี้ นอกจากนี้ ยังพบการระบาดในอ่าวมะนิลาในปี 2558 ด้วย
รัฐบาลฟิลิปปินส์ทราบดีว่าการกำจัดปลาหมอคางดำไม่ใช่เรื่องง่าย จึงมุ่งแก้ปัญหาด้วยการลดปริมาณปลาในแหล่งน้ำ โดยกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในจังหวัดบาตาอันนำปลากลอเรียจำนวน 10,000 ตัวลงปล่อยในบ่อเลี้ยงขนาด 6 ไร่ 1 งาน (1 เฮกตาร์) และหลังจากที่ปลามีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงนำปลากะพงขาวจำนวน 5,000 ตัว ลงเลี้ยงโดยกินปลาหมอคางดำเป็นอาหาร (https://newsinfo.inquirer.net/439663/gloria-an-abomination-in-bataan-fis...)
ในสหรัฐอเมริกา พบการแพร่ระบาดเกิดขึ้นที่รัฐฟลอริดาและรัฐฮาวาย ซึ่งพบว่าการแพร่ระบาดมาจากสาเหตุที่ใกล้เคียงกันมาก โดยปลาหมอคางดำถูกนำเข้าไปเพื่อประโยชน์ทางการประมงและเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เช่น เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำหรือเป็นปลาเหยื่อสำหรับการจับปลาทูน่า ต่อมามีการปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติและหลุดรอดจากฟาร์มเลี้ยงทำให้เกิดการระบาด
ส่วนในออสเตรเลีย มีการนำเข้าด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากประเทศอื่น พบการแพร่ระบาดใน 2 พื้นที่ คือ รัฐควีนส์แลนด์ ที่ปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาเลี้ยงและควบคุมศัตรูพืช ขณะที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ มีการลักลอบนำเข้าเป็นปลาสวยงาม แต่เมื่อหลุดออกมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก็เกิดการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำ
ขณะที่ ในยุโรป พบการระบาดในแม่น้ำสายหลักของทวีป คือ แม่น้ำดานูบ ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าหรือลักลอบนำเข้าในกลุ่มปลาสวยงามและใช้ประโยชน์ทางการประมง
สำหรับประเทศที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ต่างออกประกาศห้ามนำเข้าปลาชนิดนี้และมีมาตรการตรวจสอบเข้มแข็ง เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า ขณะเดียวกันได้มีการกำหนดมาตรการควบคุมปริมาณปลาให้อยู่ในพื้นที่จำกัดไม่ให้กระจายไปในวงกว้าง
สำหรับวิธีการหลักที่ประเทศต่างๆ ใช้แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คือ การสำรวจและกำจัดจับปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยเครื่องมือจับปลาที่เหมาะสมเช่น อวน แห จนถึงการใช้ไฟฟ้าช็อต, การนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารมนุษย์และอาหารของสัตว์น้ำ และน้ำปุ๋ยชีวภาพ, การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว, การใช้สารเคมีอย่าง โรติโนน (Rotenone) แต่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเนื่องจากสารเคมีมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, การดัดแปลงพันธุกรรมของปลา, การสร้างเขตควบคุมให้ปลาอยู่ในวงจำกัด ตลอดจนการให้ความรู้กับคนในชุมชน ในการกำจัดปลาได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ล้วนเป็นการนำเข้าและลักลอบนำเข้าในกลุ่มปลาสวยงาม อาจมีบ้างที่นำเข้าเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ปลา จึงเป็นเหตุผลที่ภาครัฐต้องมีการตรวจสอบและป้องกันการลักลอบนำเข้าของปลาต่างถิ่นและสัตว์สายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์อื่นไม่ให้หลุดรอดเข้ามาสร้างปัญหาในประเทศได้อีก
ภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมประมงต้องมีการตรวจตราเข้มงวด โดยเฉพาะปลาห้ามนำเข้า-ส่งออกชนิดอื่น เช่น ปลาหมอบัตเตอร์และปลาหมอมายัน ซึ่งเป็นปลาพันธุ์ต่างถิ่นในกลุ่มรุกราน ที่ยังมีการระบาดอยู่ในหลายจังหวัดของไทย ทั้งที่ปลาทั้ง 2 ชนิดนี้ ไม่มีใครขออนุญาตแม้แต่รายเดียว แต่กลับมีการแพร่ระบาดแสดงให้เห็นปลาดังกล่าวมาจากการลักลอบนำเข้าทั้งสิ้น และกำลังเข้าไปแทนที่ปลาพื้นถิ่นในบางจังหวัด โดยไม่มีมาตรการป้องกันและบริหารจัดการที่ดี
โดย : ชาญศึก ผดุงความดี นักวิชาการอิสระ