เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 รายการคุยรอบด้านกับงานอุตุนิยมวิทยา วันที่ 20 สิงหาคม 2567 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนให้ประชาชนวางแผนรับมือฝนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 22-28 สิงหาคม 2567 นี้ และอีกช่วงตั้งแต่ 26 สิงหาคม-2 กันยายน 2567
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ปีนี้มีความผิดปกติในเรื่องของอุณหภูมิและปริมาณฝน ซึ่งโดยปกติในเดือนสิงหาคมค่าเฉลี่ยอุณหภูมิจะไม่ค่อยร้อน แต่ปีนี้บางวันกลับมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 39 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่ค่อยเจอในช่วงหน้าฝน
ส่วนเรื่องของฝนยังมาไม่สม่ำเสมอ บางพื้นที่ก็มาเยอะเกินไป บางพื้นที่ก็มาน้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องในภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ทั้งที่พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และก็มีบ้างทางภาคใต้ฝั่งอันดามัน
คำเตือนเรื่องฝนเพิ่มขึ้น-ตกหนัก จากกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วง 22-28 สิงหาคม 67
ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เช่นที่ สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ หรือตาก บอกว่าฝนยังไม่มาเท่าไร อ่างเก็บน้ำบางแห่งยังแห้งขอดอยู่ หรืออย่างภาคกลางปริมาณฝนก็ยังไม่มาก ส่วนภาคตะวันออกที่ค่าเฉลี่ยฝนสูงมีอยู่ 2 จังหวัดคือจันทบุรีกับตราด
ล่าสุดมาถึงช่วงกลางฤดูฝนแล้ว ปริมาณฝนยังคงต้องติดตามกันต่อไป วันนี้ (20 ส.ค. 67) มรสุมที่พัดปกคลุมประเทศไทยยังมีปริมาณปานกลาง ส่วนร่องมรสุมก็เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน ลมมรสุมยังพัดอยู่ตามปกติ ลมก็เบียดเข้ามายังพัดปานกลางในช่วงเย็นถึงค่ำ ทำให้มีฝนในช่วงกลางคืน ช่วงดึก อย่างวานนี้ (19 ส.ค. 67) มีฝนพัดเข้ามาทางตอนกลางของ กทม.มากถึง 132.5 มิลลิเมตร
นายสมควรระบุว่า ถ้าใครติดตามแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา ร่องมรสุมจะขยับขึ้นไปแล้ว ซึ่งจะต้องติดตามเรื่องฝนในวันที่ 22-23 สิงหาคม 2567 อีกครั้ง
พยากรณ์ฝนสะสมวันที่ 23 สิงหาคม 2567
นายสมควรระบุว่า การที่ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบน หรือสูงขึ้นไปถึงเมียนมา หรือประเทศลาว ส่งผลให้ภาคเหนือรับเต็ม ๆ กับปริมาณฝนที่ตกลงมา เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา ในโซนเหล่านี้ฝนยังตกยังต่อเนื่องอยู่ แต่ถ้าต่ำลงมาที่ พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร ฝนยังไม่มา แต่ตราบใดที่ร่องมรสุมยังอยู่ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนก็ยังคงมีฝนตกหนักอยู่
ส่วนสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงจากนี้คือต้องวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ตัวแปรที่สำคัญคือเรื่องของมรสุมจะแรงขึ้นก่อน ฝนก็จะกระจายเพิ่มขึ้น หรือนับจากนี้เป็นต้นไป ตัวมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มพัดกลับเข้ามา และมีกำลังแรงขึ้น เพราะฉะนั้นจะทำให้ฝนทางภาคใต้เพิ่มขึ้น รวมถึงภาคตะวันออกด้านรับลม
ส่วนภาคเหนือ ภาคอีสาน หากแนวร่องมรสุมยังอยู่ แนวกระจายของฝนก็จะมีขึ้นด้วย ถ้ายังหนักอยู่ฝนยังคงอยู่ทางภาคเหนือกับภาคอีสานในช่วงวันที่ 22 สิงหาคม 2567
"ถ้าเป็นภาคใต้ยังต้องระวังตั้งแต่วันที่ 22-23 สิงหาคม เป็นต้นไป ส่วนทางภาคเหนือ อีสานตอนบนของประเทศไทย บางวันฝนยังเพิ่มขึ้น บางวันฝนอาจลดลง สลับกันไป แต่สัปดาห์ที่จะมีฝนต่อเนื่องจะมีตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคมไปจนถึงวันที่ 2 กันยายน 2567 เนื่องจากอิทธิพลจากตัวมรสุม ร่องมรสุมอาจจะขยับลงมาต่ำ"
ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน
ข้อควรระวัง
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง
คาดหมายอากาศรายภาค 20-26 ส.ค. 2567
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาคตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 20-22 ส.ค. 67 อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาคตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20-22 ส.ค. 67 อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20-24 ส.ค. 67 อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง
อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
ในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส
กรุงเทพฯและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20-24 ส.ค. 67 อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
#siamrath #สยามรัฐ #siamrathonline #สยามรัฐออนไลน์ #ข่าววันนี้ #อุตุ #ฝนตกหนัก #เช็กเลย