เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567  นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า มาตรฐานทางจริยธรรม

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ที่เข้มกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

หลังจากมีคำวินิจฉัยของศาล รธน กรณีอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เป็นบรรทัดฐานแล้ว ผู้ที่กำลังจะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว ที่เรียกว่า “บุคคลสาธารณะ” คงต้องถูกตรวจสอบจากสังคมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้

“คนดีเป็นที่ประจักษ์” เข้าไปทำงาน

เหตุเพราะบุคคลสาธารณะเหล่านั้นต้องเข้าไปเป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ ในการใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการเป็นผู้มีสิทธิกำหนดนโยบายบริหารประเทศ ใช้งบประมาณแผ่นดิน บังคับบัญชาข้าราชการประจำ มีสิทธิใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่มาจากภาษีอากกของประชาชน ฯลฯ

ที่ผ่านมา การพิจารณาผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพียงเปิดรัฐธรรมนูญู มาตราที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมาเป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบ เมื่อไม่มีอะไรติดขัดก็นำเสนอเข้ากระบวนแต่งตั้งได้

ถึงวันนี้ ไม่ง่ายเสียแล้ว คงต้องเอาคำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่วินิจฉัยให้อดีตนายกฯเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งมาประกอบการพิจารณาด้วย

เพราะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งไม่มีบัญญัติไว้ใน รธน.

และที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาล รธน.ย่อมผูกพันทุกองค์กร

ผู้จะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมตรีในรัฐบาลนายกฯแพทองธาร1 คงต้องตรวจสอบกันอย่างละเอียด พลาดพลั้งคนรับผิดชอบคือ นายกรัฐมนตรีผู้นำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง

ตัวอย่างนายกฯเศรษฐา มีให้เห็นแล้ว

นอกจากนั้น มาตรฐานจากคำวินิจฉัยของศาล รธน.คดีนายกฯเศรษฐา ยังจะมีผลกระทบไปถึงบรรดา สส. สว. ตลอดจนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นด้วย หากมีคนหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นร้องให้ตรวจสอบ

มาตรฐานทางจริยธรรมคงเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมได้มีส่วนร่วมในการกลั่นกรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ได้ “คนดีเป็นที่ประจักษ์” อันเป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างแท้จริง

#siamrath #สยามรัฐ #siamrathonline #สยามรัฐออนไลน์ #ข่าววันนี้ #ข่าวการเมือง #การเมือง #สามารถ #แพทองธาร #เศรษฐา #รับผิดชอบ