มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” ฉลองความสำเร็จโครงการ “ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-สะโพกเทียมเพื่อผู้ยากไร้” ดำเนินการต่อเนื่อง 5 ปี จำนวน 750 ข้อ ในโอกาสครบ 90 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมประกาศเดินหน้าโครงการในปีนี้ต่ออีก 150 ข้อ รอเปิดรับสมัครเดือนพฤศจิกายนนี้ 

วันที่ 20 ส.ค.67 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรม “ก้าวสู่ปีที่ 3 ศูนย์ข้อฯ ธรรมศาสตร์ เพื่อประชาชน” โดยฉลองการเปิดศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์ครบ 2 ปี และเป็นการแถลงการณ์ความสำเร็จการให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียมแก่ประชาชนผู้ยากไร้ฟรี-ไม่มีค่าใช้จ่าย ครบ 750 ข้อ เนื่องในโอกาสครบ 90 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่พบมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โรคนี้สร้างความเจ็บปวดทรมานให้แก่ผู้ป่วย ส่งผลต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นอย่างสูง และเป็นภาระของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมสามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วยหายเจ็บปวด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว แต่การผ่าตัดมีความซับซ้อน ต้องอาศัยแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเป็นการผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพสูงได้อย่างทั่วถึง และมีระยะเวลารอคิวผ่าตัดยาวนาน ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้แก่ผู้ยากไร้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งโครงการนี้ได้ช่วยเหลือผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องมานาน 5 ปี รวมทั้งหมด 750 ข้อ ส่วนในปีนี้ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ผ่าตัดจนสำเร็จลุล่วงครบ 200 ข้อในเดือนมีนาคม 2567 และได้ติดตามผลการรักษาหลังผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง หลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ โครงการนี้เป็นการผ่าตัดนอกเหนือจากการผ่าตัดปกติ โดยมาทำเพิ่มเติมนอกเวลาราชการ เพื่อส่งเสริมการมีจิตอาสาของเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้จัดตั้งศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เปิดดำเนินการมาแล้วครบ 2 ปี ศูนย์นี้มีห้องผ่าตัดเฉพาะโรคข้อจำนวน 2 ห้อง มีอุปกรณ์สำหรับผ่าตัดเปลี่ยนข้อ และระงับความรู้สึกที่ทันสมัย มีระบบปรับอากาศในห้องผ่าตัดที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสูง ช่วยกรองอนุภาคขนาดเล็กได้มากกว่าห้องผ่าตัดทั่วไปถึง 10 เท่า มีทีมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อ รวมทั้งยังทำการศึกษาวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เพื่อนำมายกระดับการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนข้อ ให้ได้รับประสบการณ์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อที่ดียิ่งขึ้น คือ ลดความเจ็บ สามารถกลับบ้านได้เร็ว กลับมาเดินได้ และชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ 

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสครบ 90 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ทั้งข้อเข่าและข้อสะโพกครบ 750 ข้อ โดยทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการโครงการนี้ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2562 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมานี้ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ไปทั้งสิ้น 200 ข้อ ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน โครงการนี้เป็นโครงการที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นที่พึ่งของประชาชนที่มีภาวะข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี และลดภาระของครอบครัวที่ต้องคอยดูแล นอกจากโครงการนี้จะได้ช่วยผู้ป่วยที่ยากไร้ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้มีจิตศรัทธาและผู้ที่มีทุนทรัพย์ได้ร่วมกันบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่มีความยากลำบาก สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้มีจิตอาสา สละเวลา และแรงกายมาช่วยเหลือผู้ป่วยในโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์สุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวขอบคุณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทีมแพทย์และบุคลากรที่ร่วมกันดำเนินกิจกรรมโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างดี โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และได้รับการสนับสนุนส่วนที่เหลือจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันทั้งทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน โดยมุ่งเน้นประโยชน์เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ป่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ กลับมาสร้างประโยชน์ต่อสังคมต่อไป นับเป็นการให้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยให้มหาวิทยาลัยมีคะแนนการขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สูงขึ้น สะท้อนถึงการสร้างประโยชน์ต่อสังคมในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน หวังว่าทุก ๆ ฝ่ายจะมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานโครงการอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องสืบไป

ภายหลังการจัดตั้งศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมธรรมศาสตร์ ก็ได้รับความนิยมจากผู้รับบริการโดยมีผู้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเพิ่มขึ้น จนถึงปัจจุบันมีผู้เข้ารับการผ่าตัดประมาณ 1,500 ข้อ/ปี และในปีนี้ได้รับการรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Disease Specific Certification for knee arthroplasty) ซึ่งแสดงถึงมาตรฐานบริการที่ได้มาตรฐานเป็นสากล จึงเชื่อว่าในอนาคตศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมธรรมศาสตร์จะเป็นศูนย์ที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้ป่วย และมีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากขึ้นเรื่อย ๆ

ศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ และประธานคณะกรรมการโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมไปแล้วถึง 750 ข้อ แต่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่รอคอยการผ่าตัดอยู่ ดังนั้นในปีนี้ทาง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยังคงเดินหน้าโครงการนี้ต่อ โดยเปิดรับสมัครจำนวน 150 ข้อ ประมาณเดือน พฤศจิกายน 2567 นี้ นอกจากนี้ ยังขอขอบพระคุณผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านที่ร่วมบริจาคเงินสนับสนุนโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเพื่อผู้ยากไร้ ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และคณะกรรมการโครงการจิตอาสาฯ    ขอเป็นสะพานบุญให้แก่ผู้บริจาคทุกท่าน และจะนำเงินบริจาคนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยอย่างเต็มที่ต่อไป

ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์ ก่อตั้งมาครบ 2 ปี ได้ให้ความช่วยเหลือผ่าตัดผู้ป่วยเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมเป็นจำนวนมาก มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจำนวน 5 ท่าน ประกอบด้วย ศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ  ศ.นพ.บุญชนะ พงษ์เจริญ  ศ.นพ.ปิยะ ปิ่นศรศักดิ์  รศ.นพ.กฤต บุญธนาพิบูลย์ และ อ.นพ.สุภกิจ คณิตเนตร โดยทางศูนย์มีการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพ จนได้รับการรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จากสถาบันรับรองคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาล อันเป็นการแสดงถึงมาตรฐานการให้บริการแก่ผู้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยังเป็นผู้นำด้านการระงับปวดจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มีผลงานวิจัยรองรับและตีพิมพ์ระดับนานาชาติมากกว่าสิบเรื่องนวัตกรรมการลดความเจ็บปวดและผลกระทบต่อร่างกายผู้ป่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องประสบกับความทุกข์ทรมานที่มากเกินไป และสามารถฟื้นตัวได้ไว ทำให้สามารถให้กลับบ้านได้ในวันเดียวสำหรับการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน และภายใน 24 ชั่วโมงในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนอนโรงพยาบาล 

สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมแบบเฉพาะบุคคลโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทำให้ได้ข้อเทียมที่มีลักษณะจำเพาะของผู้ป่วยแต่ละราย วางตำแหน่งได้ถูกต้องตามแผนที่วางไว้ และมีการปรับสมดุลเนื้อเยื่อโดยรอบอย่างละเอียด ทำให้ได้ข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมที่ใช้งานได้ดี เหมือนธรรมชาติมากขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น อาทิ การนั่งพื้น การขึ้นลงบันได ปัจจุบันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ไปแล้วประมาณ 500 ข้อ นับเป็นโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการผ่าตัดเข่าและสะโพก ไม่ว่าจะเข้าด้านหน้า หรือด้านหลังจำนวนมากที่สุดในประเทศโรงพยาบาลหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์รับแก้ไขความล้มเหลวจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้อเทียมหลวม ข้อเทียมติดเชื้อ ผ่าตัดแล้วไม่หายปวด กระดูกหักรอบข้อเทียม เป็นต้น ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อน และมีความยุ่งยากมากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมครั้งแรก โดยเฉลี่ยในแต่ละปีได้รับผู้ป่วยส่งต่อมาเพื่อแก้ไขความล้มเหลวของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมประมาณ 100 ราย ทางโรงพยาบาลขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาของคุณประทิน ศรีอรุณ ซึ่งได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมาแล้ว 6 ครั้ง เสียค่าใช้จ่ายไปแล้วหลายล้านบาท แต่ยังมีอาการปวดเข่าไม่หาย เข่าติดงอไม่ได้และเหยียดออกไม่สุด จนสุดท้ายได้มาทำการผ่าตัดแก้ไขที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นครั้งที่ 7 จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ใช้งานได้ตามปกติ และคุณประทินก็ยังเป็นผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินให้โครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ยากไร้นี้ด้วย

ผลการดำเนินงานมาตลอดระยะเวลา 2 ปีของศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์ เป็นที่ประจักษ์ถึงศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม และเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง