เปิดประวัติตำนานเพลงลูกกรุง “ชรินทร์ นันทนาคร” 

เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการเพลงลูกกรุง และวงการบันเทิง ต่อการจากไปของชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ.2541

อาฉึ่ง-ชรินทร์ ได้จากไปอย่างสงบเมื่อคืนวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 02.23 น. ด้วยโรคชรา หลังเข้ารับการรักษามานานหลายเดือนที่โรงพยาบาลตำรวจ สิริอายุ 91 ปี

ประวัติชีวิตและผลงาน 

ชรินทร์ นันทนาคร เดิมชื่อ บุญมัย งามเมือง ชื่อเล่น ฉึ่ง เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2476 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายบุญเกิด และนางจันทร์ดี งามเมือง เมื่อเยาว์วัยเป็นเด็กขี้โรค แม่จึงนำไปยกให้พระตามความเชื่อในขณะนั้น เจ้าอาวาสวัดท่าสะต๋อย ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น "ชรินทร์"

สมรสกับสปัน เธียรประสิทธิ เมื่อปี พ.ศ.2500 มีบุตรสาว 2 คน คือ ปัญญชลี เพ็ญชาติ และปัญชนิตย์ นันทนาคร ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้ ๕ ปี เลิกร้างกันในปี พ.ศ.2505 ต่อมาได้สมรสกับเพชรา เชาวราษฎร์ ในปี พ.ศ.2514 และอยู่กินกันมาจวบจนปัจจุบัน

การศึกษา

จบการศึกษาวิชาชีพที่โรงเรียนอัสสัมชัญ คอมเมิร์ส ระหว่างเรียนหนังสือที่อัสสัมชัญ เป็นนักกีฬาฟุตบอลและนักรักบี้ของโรงเรียน แต่ประสบอุบัติเหตุสะบ้าเข่าแตกต้องเลิกเล่นกีฬาทุกชนิด

การทำงาน

ระหว่างเรียนอยู่อัสสัมชัญ คอมเมิร์ส ได้พบกับนายไศล ไกรเลิศ ครูเพลงไทยสากลคนสำคัญในยุคนั้น จึงชักชวนให้ไปเรียนร้องเพลงจนกระทั่งได้ร้องบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกของนายไศล ไกรเลิศ คือเพลง "ดวงใจในฝัน"

เริ่มมีชื่อเสียงและ มีโอกาสร้องเพลงของนักแต่งเพลงคนอื่นๆ เช่น นายสมานกาญจนะผลิน โดยเฉพาะเพลงแบบสังคีตประยุกต์ที่ใช้ดนตรีไทยเดิมบรรเลงร่วมกับดนตรีสากลเป็นครั้งแรกเช่น เพลงนกเขาคู่รัก สัญญารัก ง้อรัก และเชื่อรัก เป็นต้น

ต่อมาปี พ.ศ.2500 บริษัทิดาราไทยฟิล์มเลือกให้แสดงภาพยนตร์ เป็นพระเอกคู่กับทรงศรี เทวคุปต์ เรื่องสาวน้อย

และปี พ.ศ.2501 เข้าทำงานประจำเป็นเลขานุการผู้ตรวจการภาคตะวันออกไกลขององค์การยูซ่อมเกือบ 10 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลายังคงมีผลงานเพลงออกมาสมำเสมอ เช่น เรือนแพ, แสนแสบ, ท่าฉลอมหยาดเพชร, ผู้ชนะสืบทิศ, ข้าวประตับดิน และอาลัยรัก เป็นต้น

ต่อมาปี พ.ศ.2507 ชรินทร์มีความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์ และต่อมาในปี พ.ศ.2508 จึงได้ลาออกจากองค์การยูซ่อมมาสร้างภาพยนตร์ของตนเอง โดยภาพยนตร์ทุกเรื่อง ที่สร้างจะเน้นให้คนไทยรักชาติรักแผ่นดิน & จะต้องมีทิวทัศน์ที่สวยงามตามภาคต่างๆของประเทศไทย เป็นฉากประกอบเพื่อเผยแพร่ให้คนได้รู้จัก และจะต้องมีเพลงที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ ประกอบในภาพยนตร์ทุกเรื่องเช่น เรื่องเทพบุตรนักเลง (เพลงป่าลั่น) เรื่องแมวไทย (เพลงมนต์รักดอกคำใต้) เรื่องลูกเจ้าพระยา (เพลงลูกเจ้าพระยา) และบางเรื่องจะเน้นด้านการรักษาความบริสุทธิ์ของธรรมชาติเช่น เรื่องเพลงรักดอกไม้บาน ,รักข้ามคลอง, ผู้การเรือเร่, ฟ้าสีทอง และบ้านน้อยกลางดง เป็นต้น

ปี พ.ศ.2509 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อัญเชิญบทเพลงพระราช-นิพนธ์ "ลมหนาว" เป็นเพลงเอกของภาพยนตร์ เรื่องลมหนาว และได้เปลี่ยนแปลงความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์สารคดีเทิดพระเกียรติมาเป็นสร้างบทเพลงเทิดพระเกียรติ "สดุดีมหาราชา" ไว้ในภาพยนตร์เรื่อง "ลมหนาว" และได้กลายเป็นเพลงของประชาชนทั้งประเทศตั้งแต่นั้นมา

ปี พ.ศ.2510 ชรินทร์ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาด้านคอมพิวเตอร์และการบริหารระหว่างประเทศ เมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทยได้แต่งงานกับเพชรา เชาวราษฎร์ ในปี พ.ศ.2512 และหลังจากปี พ.ศ.2514 ได้พักการร้องเพลง โดยหันไปสร้างและกำกับภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่องแผ่นดินแม่ได้สร้างในระบบ 70 ม.ม. เป็นเรื่องแรกของประเทศไทย

ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2508 นายชรินทร์ ได้สร้างและกำกับภาพยนตร์มาทั้งหมด รวม 19 เรื่อง กระทั่งปี พ.ศ.2531 จึงได้พักงานสร้างภาพยนตร์ หันมาทุ่มเทให้กับผลงานเพลงอย่างจริงจัง อาทิ ชุด "อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล"หมายเลข 1-3 ชุด "ชรินทร์ นันทนาคร" กับบทเพลงเหนือกาลเวลา"สุนทราภรณ์" โดยเฉพาะชุด "การเดินทางที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต" ได้ทุ่มเทสร้างสรรค์ด้วยความตั้งใจที่จะผลิตผลงานที่มีคุณภาพให้กับวงการเพลงไทยสากลโดยใช้เครื่องดนตรีของแท้ บรรเลงแบบออเครสต้า ผสมเครื่องดนตรีพื้นบ้านจากภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้

ผลงานสำคัญ

นายชรินทร์ สร้างสรรค์ผลงานเพลงเป็นอมตะไว้เป็นจำนวนมาก เป็นนักร้องเพลงไทยสากลที่มีเอกลักษณ์การขับร้องเพลงเป็นของตนเอง ในแบบฉบับของเพลงไทยเดิมผสมผสานกับเพลงไทยสากลที่มีท่วงทำนองสูงต่ำ เอื้อนด้วยน้ำเสียงที่พลิ้ว มีเสน่ห์ชวนฟัง

ผลงานเพลงสำคัญๆของขรินทร์ มีเป็นจำนวนมาก อาทิ นกเขาดู่รัก, ง้อรัก, เรือนแพ, แสนแสบ, ท่าฉลอม, หยาดเพชร, ผู้ชนะสิบทิศ, ข้าวประดับดิน,ทาสเทวี และอาลัยรัก ฯลฯ เพลงเหล่านี้คือ บทเพลงอมตะที่ยังอยู่ในหัวใจของ นักฟังเพลงมาจนปัจจุบัน

เกียรติคุณที่เคยได้รับ

-ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามสกุลให้ว่า นันทนาคร จึงใช้ชื่อ ชรินทร์ นันทนาคร ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2503 เป็นต้นมา

-ปี พ.ศ.2519 ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และถ่ายภาพยอดเยี่ยม จากเรื่องแผ่นดินแม่ ในงานมหกรรมภาพยนตร์แห่งเอเชีย ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

-ปี พ.ศ.2527 ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงิน สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเป็นผู้ริเริ่มและร่วมสร้างสรรค์เพลงสดุดีมหาราชา

จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ นายชรินทร์ นันทนาคร เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2541

-ขอขอบคุณเพจดาราภาพยนต์

#ตำนานเพลงลูกทุ่ง #ชรินทร์นันทนาคร #ข่าววันนี้ #ศิลปินแห่งชาติ