ประเด็นของ "ปลาหมอคางดำ" ที่กำลังค่อยๆ คลี่คลาย จากความร่วมแรงร่วมใจของหลายฝ่ายที่พยายามนำปลาออกจากแหล่งน้ำเพื่อลดปริมาณของปลาในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด ดังปรากฏข้อมูลจากชาวประมงในบางพื้นที่ว่าจับปลาได้น้อยลง หรือแม้แต่ผู้ช่วยรับซื้อปลายังบอกว่าไม่มีคนเอาปลามาขาย ตลอดจนการที่หลายหน่วยงานช่วยกันรณรงค์บริโภค นำเชฟชื่อดังมาปรุงเมนูเด็ด และช่วยกันคิดเมนูใหม่ๆมากมาย เพราะอย่างไรปลาชนิดนี้ก็เป็นปลาที่กินได้ ให้โปรตีน ไขมันน้อย เหมือนปลาทั่วไป ไม่ใช่ปลาดุร้ายอย่างปิรันย่า ข้อหาเดียวของมันที่ทำให้ต้องเร่งกำจัด คือการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนกระทบระบบนิเวศ
ขณะที่อีกฟากหนึ่งก็มีบทบาทของนักวิทยาศาสตร์-นักวิจัย ที่พยายามจะหาต้นตอว่า ปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยนั้นมีที่มาจากแหล่งเดียวกันหรือไม่ ซึ่งหากต้องการหาเพื่อนำไปสู่การวิจัยเพื่อควบคุมปริมาณประชากรของมันก็น่าจะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าหากต้องการตามหาผู้ก่อให้เกิดการระบาด จากดีเอ็นเอก็คงยากที่จะสรุปได้ เพราะต่อให้เป็นดีเอ็นเอ จากกานาตรงกัน ก็ไม่สามารถรู้ได้อยู่ดีว่า ใครบ้างที่นำเข้าจากกานา ใครบ้างที่นำเข้าจากเวียดนามซึ่งมีต้นทางมาจากกานาอีกทีหนึ่ง หรือแม้แต่ใครบ้างที่จัดการซากปลาอย่างถูกต้องและใครบ้างที่ใช้วิธีปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
ดังนั้น แม้กรมประมงของไทยจะติดต่อขอดีเอ็นเอปลาหมอคางดำจากประเทศกานามา ก็ไม่รู้ว่าจะได้มาเมื่อใด ได้มาแล้วจะเสียเวลารอคอยโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่ สู้ใช้วิธีที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอไว้น่าจะตรงประเด็นและได้ประโยชน์กว่า
โดย ดร.เจษฎา ได้จัดหาลำดับดีเอ็นเอของปลาชนิดนี้ จากทุกประเทศในแอฟริกามาให้กรมประมงทำการศึกษาเทียบเคียง กล่าวคือ หากพบว่าดีเอ็นเอไปตรงกับปลาในไนจีเรีย หรือ เซเนกัล ก็จะได้ไม่ต้องรอดีเอ็นเอจากกานาให้เสียเวลา อีกทั้งยังเสนอว่าหากกรมไม่สะดวกจะตรวจสอบ ทางจุฬาฯก็พร้อมรับดีเอ็นเอปลาหมอคางดำที่กรมประมงมีจากปี 2560 มาทำการเทียบเคียงให้ เพื่อคลายสงสัยให้สังคมได้อีกทางหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าจนป่านนี้ กรมประมง ได้ส่งดีเอ็นเอให้จุฬาฯแล้วหรือยัง
ในงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 24 หัวข้อ “ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นอีกงานวิชาการหนึ่งที่ทรงคุณค่า สามารถแสดงเจตจำนงที่จะร่วมมือกับประเทศไทยแก้ปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา ครบถ้วนและรอบด้าน โดย รศ.ดร.เจษฎา ได้เล่าถึงแนวคิดเรื่องการตรวจ DNA นี้บนเวทีดังกล่าวด้วย
“ในกรณีการแพร่ระบาดที่มีการตั้งคำถามว่าปลาหมอคางดำมาจากไหน รวมถึงที่ปัจจุบันมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่เคยนำเข้ามาเป็นลูกปลาราว 2,000 ตัวหรือไม่ เราอาจจะใช้วิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ได้”
ล่าสุด ที่กรมประมงขอดีเอ็นเอปลาหมอคางดำจากประเทศกานา ก็มีคำถามว่าขอมาทำไม คำตอบก็คือจะนำมาเชื่อมกับรายงานวิจัยของกรมประมงที่เคยเก็บตัวอย่างปลาหมอคางดำทั่วประเทศในช่วงราวปี 2560 และนำมาศึกษาว่ามีความแตกต่างทางพันธุกรรมหรือไม่
รศ.ดร.เจษฎา อธิบายเพิ่มเติมถึงรายงานวิจัยของกรมประมงด้วยว่า ในรายงานมีแต่คำศัพท์ที่นักวิชาการคุยกัน พอสื่อสารไปที่สื่อมวลชนภายนอก หรือคนที่ไม่เข้าใจ มันไปไกลกว่านั้น อย่างเช่น ปลาหมอคางดำทั้งประเทศมีพันธุกรรมเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นต้องมาจากจุดกำเนิดเดียวกันแน่ ๆ ซึ่งเป็นการตีความผิดจากงานวิจัย เพราะว่าการศึกษาเป็นการนำตัวอย่างที่พบในไทยไปเทียบจากตัวอย่างเดียวจากฐานข้อมูลในต่างประเทศ ผลเลยออกมาว่าทุกตัวในไทยเป็นญาติกันหมด ซึ่งการตีความว่าทุกตัวในไทยเป็นญาติกันหมดจากการเทียบกับตัวอย่างเดียวถือว่าเร็วเกินไป จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องตีความคู่กับปลาหมอคางดำจากประเทศกานา
“เมื่อเรารู้แล้วว่ามันมาจากประเทศจากทางแอฟริกา ผมก็เสนอว่า ถ้าหาตัวอย่างที่ถกเถียงกันอยู่ไม่ได้ ก็สามารถเอาตัวอย่างในประเทศไปเทียบกับตัวอย่างที่ต่างประเทศได้ ด้วยการนำเอาลำดับดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำในประเทศไทยมาวิเคราะห์เทียบกับฐานข้อมูลดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำในประเทศอื่น ๆ ของทวีปแอฟริกา ซึ่งไม่ต้องเสียเวลารอประเทศกานาตอบมาด้วย เอาข้อมูลที่ผมส่งให้มาเทียบได้เลย ก็จะเข้าใกล้คำตอบมากขึ้นเกี่ยวกับถึงที่มาของการแพร่ระบาด”
การศึกษาดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำที่รายงานโดยกรมประมง เมื่อปี 2561 – 2563 พบว่า มีการรุกรานระลอกแรกที่พบในพื้นที่สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และ ระยอง บ่งชี้ว่าปลาจากทั่วประเทศ อาจมาจากการนำเข้าพื้นที่มากกว่า 1 ครั้ง ขณะที่การกระจายต่างพื้นที่ที่อยู่ห่างกัน น่าจะไปโดยการนำพาเข้าไปของมนุษย์มากกว่าที่จะไปโดยธรรมชาติ
ที่สำคัญ การวิเคราะห์ดีเอ็นเอปลาหมอคางดำของกรมประมงในส่วนที่บ่งชี้ความแตกต่างระหว่างประชากรนั้น ปรากฎว่าปลาที่สมุทรสาคร เพชรบุรี มีความคล้ายกัน แต่ปลาทางระยอง มีความแตกต่างทางพันธุกรรมกับที่จังหวัดอื่นอย่างชัดเจน ส่วนปลาทางประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จะมีความคล้ายกับทางเพชรบุรี ดังนั้น กล่าวได้ว่า ปลาทางระยอง กับทางเพชรบุรี อาจจะนำเข้ามาจากคนละแหล่งกัน
กล่าวได้ว่า งานวิจัยของกรมประมงจำเป็นต้องได้รับการอ่านจากนักวิชาการ-นักวิทยาศาสตร์ จึงจะตีความได้อย่างถูกต้อง ตรงประเด็น เป็นการช่วยสังคมไม่ให้ถูกคนบางกลุ่มปั่นความเชื่อผิดๆ และช่วยกันสร้างการตระหนักรู้บนข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์ที่โกหกไม่ได้
โดย : พิภพ แซ่ตั๊น