สหกรณ์การเกษตรปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ดจับมือสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จ.มุกดาหาร ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเนื้อสองสายพันธุ์เด่น”แองกัสและวากิว”เสริมรายได้สมาชิก นำร่องเกษตรกรต้นแบบ 10 ราย ก่อนขยายผลสู่สมาชิกรายอื่นต่อไป
แม้ที่ผ่านมาโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเพื่อเสริมรายได้สมาชิกของสหกรณ์การเกษตรปทุมรัตต์ จำกัด อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับชัดเจน ทำให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้ต้องประสบปัญหากับการขาดทุนในหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโคพม่า โคนมตัวผู้และโคเป็นทุน
ทว่าล่าสุดสหกรณ์ฯก็ยังเดินหน้าส่งเสริมสมาชิกเลี้ยงโคเนื้อต่อไป หลังร่วมกับสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ที่มีประสบการณ์ส่งเสริมสมาชิกเลี้ยงโคเนื้อครบวงจร โดยเน้นใน 2 สายพันธุ์ได้แก่ แองกัสและวากิว จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน
“ที่ผ่านมาเจ็บตัวมาเยอะ ทั้งโคพม่า โคนมตัวผู้และโคเป็นทุน ตอนนั้นสมาชิกเข้าร่วมโครงการเป็นร้อย รายจ่ายโครงการก็หลายสิบล้าน แต่ที่มาเริ่มใหม่กับโคขุนหนองสูง เพราะเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วก็จะนำมาถอดเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำ ปัญหาหลักที่ผ่านมาเราไม่มีตลาดรองรับชัดเจน คุมราคาไม่ได้ ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง”
นางปราณี อินธิจักร์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรปทุมรัตต์ จำกัด ย้อนอดีตโครงการส่งเสริมเลี้ยงโคเนื้อแก่สมาชิก หลังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปัญหาเรื่องตลาดและราคา ก่อนจะมาเริ่มโครงการใหม่ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นสหกรณ์ในเครือข่าย และเป็นสหกรณ์ที่มีการส่งเสริมสมาชิกเลี้ยงโคแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิตลูกโค การขุนต่อจนได้ขนาดตามที่ต้องการ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการจัดจำหน่าย
เธอเผยต่อว่าสำหรับขั้นตอนดำเนินการนั้นเริ่มจากคัดเลือกสมาชิกที่สนใจร่วมโครงการจำนวน 10 ราย พาไปสมัครสมาชิกสมทบกับสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯหนองสูงมาทำการอบรมวิธีการเลี้ยงสายพันธุ์โคที่ต้องการ พร้อมเจาะหูติดเบอร์โคตัวนั้นเอาไว้ เมื่อเจ้าของโคเลี้ยงได้ขนาดตามที่ต้องการก็จะจำหน่ายให้กับสหกรณ์ฯหนองสูงในราคาประกัน โดยใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณหนึ่งถึงปีครึ่งจากลูกโคหย่านมมาขุนต่อจนได้ขนาดตามที่ต้องการ ซึ่งขณะนี้โครงการฯเริ่มดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
“สหกรณ์จะให้การสนับสนุนสมาชิกทุกอย่างตั้งแต่ซื้อลูกโคมาขุน โดยจะมีเงินให้กู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อรายสำหรับซื้อลูกโคสายพันธุ์แองกัสและวากิว ในฟาร์มตามที่สหกรณ์ฯหนองสูงแนะนำ อาหารโคก็ไม่ต้องจ่าย สมาชิกมีหน้าที่เลี้ยงอย่างเดียวจนกว่าจะขายโคให้กับสหกรณ์ฯหนองสูง ซึ่งทางเราจะดำเนินการให้ทั้งหมดได้เงินมาเท่าไหร่เราก็จะหักเงินที่ค้างเอาไว้ เหลือเท่าไหร่ก็จะจ่ายให้กับสมาชิกเจ้าของโคตัวนั้นไป คือทุกสิ่งทุกอย่างที่สมาชิกทำ เราไม่เก็บเงินตอนนี้ เราจะเก็บตอนสุดท้ายตอนขายโค”
ผู้จัดการสหกรณ์ฯปทุมรัตต์ระบุอีกว่าปัจจุบันสหกรณ์ฯมีสมาชิกอยู่จำนวนทั้งสิ้น 2,111 ราย มีอาชีพหลักการทำนาปลูกข้าวหอมมะลิ105 ซึ่งปลูกได้ปีละครั้ง โดยแต่ละรายก็จะเลี้ยงโคเป็นอาชีพเสริมเกือบทุกครัวเรือน จึงเห็นว่าหากมีการส่งเสริมเลี้ยงอย่างจริงจังน่าจะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกเป็นอย่างดี โดยเริ่มต้นจากโครงการโคพม่า 30 ราย โคนมตัวผู้ 50 รายและโคเป็นทุน 227 ราย แต่สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุน
“ที่สนใจโคขุนหนองสูง เพราะมีตลาดชัดเจน หนองสูงรับซื้อโคในราคาประกัน เพียงตอนนี้สมาชิกยังไม่ค่อยมั่นใจ จึงต้องรอดูสถานการณ์สักระยะจากเกษตรกรที่เราคัดเลือกมาเป็นต้นแบบ 10 รายนี้ก่อน”
นางปราณี ย้ำด้วยว่านอกจากโครงการโคขุนหนองสูงแล้ว สหกรณ์ยังส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา ที่ผ่านมามีการส่งเสริมปลูกแตงกวา ฟักทอง แต่ราคาจำหน่ายไม่ค่อยแน่นอน เพราะต้องซื้อขายพ่อค้าคนกลาง ล่าสุดส่งเสริมปลูกพริกแดงส่งโรงงานผลิตซอส ซึ่งเพิ่งดำเนินการเป็นปีแรก โดยทางโรงงานได้รับซื้อในประกันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 16 บาท ขณะนี้มีสมาชิกให้ความสนใจจำนวน 40 ราย โดยใช้ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 3 เดือน
“ โครงการนี้เพิ่งทำมาปีแรก เป็นการปลูกพืชหลังนา แต่ถ้าใครมีที่ดอนก็ปลูกทั้งปีก็ได้ ผลผลิตที่ได้ก็จะส่งโรงงานผลิตซอสพริก ก่อนหน้านี้เขาปลูกแตงกว่า ฟักทองกันอยู่แล้ว แต่ว่าตลาดและราคาไม่ค่อยจะแน่นอน ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนสหกรณ์ก็จะดูแลในการรวบรวมผลผลิต ส่วนเงินลงทุน ถ้าสมาชิกรายใดมีทุนเพียงพอก็ดำเนินการเองได้ แต่ถ้าไม่มีก็สามารถกู้เงินสหกรณ์ดอกเบี้ยต่ำได้เช่นกัน แล้วแต่สมาชิกจะเลือกตามความเหมะสมของแต่ละราย”ผู้จัดการสหกรณ์ฯคนเดิมกล่าวย้ำ
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุน นับเป็นอีกโครงการแก้หนี้ด้วยส่งเสริมอาชีพ(เสริม)สมาชิกของสหกรณ์การเกษตรปทุมรัตต์ จำกัด ที่สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้แก่เกษตรกรสมาชิกสู่ความมั่นคงยั่งยืนต่อไป