เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2567 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ตระกูลชินวัตรสามารถจัดการให้คนในตระกูลและโนมินีของตระกูลเป็นนายกรัฐมนตรีตามกลไกระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ถึง 5 คนดังนี้ 1.นาย ทักษิณ ชินวัตร 2.นาย สมัคร สุนทรเวช 3.นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ 4.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 5. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

คนหลังสุดคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลูกสาวคนสุดท้องของ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีอายุเพียง 37 ปี จะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 และมีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อนาย เศรษฐา ทวีสิน มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนู พรรคร่วมรัฐบาลต่างพร้อมใจกันโหวตให้ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นไปตามกติกาในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

หากจะกล่าวหาว่า ระบอบเผด็จการมีความพยายามในการสืบทอดอำนาจเสมอ ตระกูลชินวัตรก็สามารถใข้กติกาในระบอบประชาธิปไตยสืบทอดอำนาจได้เช่นกัน เพราะการที่สามารถกำหนดให้คนของตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จได้อย่างใจถึง 5 คน ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทำไมเขาจึงทำได้ หากจะว่าเป็นเพราะคนไทยยังไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยดีพอ คงต้องให้เขาเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ให้เขาผ่านการเลือกตั้งหลายๆครั้งก็จะเข้าใจเองว่าการเลือกตั้งจะต้องเลือกคนที่มีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะเกิดผลดีต่อประเทศชาติ เราก็ผ่านการลองผิดลองถูกในระบอบประชาธิปไตยมา 92 ปีแล้ว หากยังไม่เรียนรู้ก็คงไม่มีวันเรียนรู้ได้เลยตลอดกาล

ถามว่า หาก น.ส.แพทองธาร เป็นคนธรรมดา ไม่ได้เกิดมาเป็นลูกสาวนายทักษิณ ชินวัตร ต่อให้มีคุณสมบัติดีกว่านี้อีกหมื่นเท่า ก็ไม่มีทางได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่มีทางได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และไม่มีทางได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุเพียง 37 ปี  นี่คือผลที่ได้ออกมาจากการปกครองระบอบประชาธิปไตย นั่นก็คือ

คือ น.ส.แพทองธาร ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เพราะกติกากำหนดเช่นนั้น และเพราะเป็นลูกสาวของนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่เพราะมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะนำพาประเทศเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและผ่านพ้นไปได้ด้วยดีในระยะสั้น และสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ในระยะยาว แต่อย่างใด

ในยามที่ประเทศกำลังมีปัญหาใหญ่ที่หนักหนาหลายปัญหาที่ต้องได้รับการดูแล และปัญหาไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายใน แต่ยังมีปัญหาในด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาที่เกิดจากการขัดแย้งจนอาจจะเกิดสงครามขนาดใหญ่ในโลกขึ้นได้ทุกเมื่อ เรากลับได้นายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่มีคุณสมบัติธรรมดาๆ ไม่มีประสบการณ์ และไม่ทราบจะต้องใช้เวลาเรียนรู้งานบริหารบ้านเมืองอีกนานเท่าใดจึงจะสามารถรับมือกับปัญหาได้ นี่คือผลพวงจากระบอบประชาธิปไตย ที่บางคนพร่ำบอกกันว่าความเป็นประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้

Socrates นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ชาวกรีก เป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบประชาธิปไตย จนถูกตั้งข้อหาว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมอมเมาเยาวชน จนถูกโหวตให้ประหารชีวิตด้วยคะแนนที่แพ้อย่างฉิวเฉียด  Plato ผู้เป็นศิษย์ของ Socrates เปรียบเทียบประเทศว่าเป็น เรือแห่งรัฐ หรือ Ship of State ที่มีกัปตันเรือ มีลูกเรือ มีผู้ที่เป็นผู้นำลูกเรือ และมีผู้ที่เรียกว่า ผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือตัวจริง

กัปตันเรือ มีรูปร่างใหญ่กว่าใคร และแข็งแรงกว่าลูกเรือทุกคน แต่หูตึงและสายตาสั้น และไม่ค่อยจะมีความสามารถในการเดินเรือสักเท่าใด กัปตันอาจพยายามแสดงอำนาจ แต่ความจริงมีความเปราะบาง และไม่สามารถควบคุมเรือได้อย่างเบ็ดเสร็จ เปรียบเสมือนผู้นำที่อ่อนแอในระบอบประชาธิปไตย หรือเปรียบเสมือนกลุ่มคนที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ และมีความอ่อนแอไม่แพ้กัน

ลูกเรือเป็นพวกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยมีความพอใจ แบ่งเป็นกลุ่มๆ เป็นฝักเป็นฝ่าย แย่งชิงกันควบคุมเรือ แต่ไม่มีสักคนที่มีความรู้และความเข้าใจเรื่องการเดินเรือแม้แน่น้อย ยิ่งกว่านั้นพวกเยายังบอกว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ และพร้อมที่จะฆ่าคนที่บอกว่าสอนกันได้ทิ้ง พวกลูกเรือหมกมุ่นอยู่กับการวางแผนโค่นล้มกัปตัน เพื่อพวกเขาจะได้ทำอะไรก็ได้บนเรือ  ในมุมมองของ Plato ประชาธิปไตยไม่ใช่อะไรที่มากไปกว่า เรือสำราญขี้เมา หรือ drunken pleasure-cruise เรียกได้ว่า Plato ดูแคลลนรัฐบาลที่ได้รับความนิยมสูง และการนำเสนอสิ่งต่างๆตามที่คนปรารถนา แลกกับความนิยมที่จะได้รับ ภายใต้กติกาตามระบอบประชาธิปไตย เรือแห่งรัฐ(ship of state) ก็จะลอยไปลอยมาอย่างไร้จุดหมายที่ชัดเจน

ผู้นำลูกเรือ ก็คือนักการเมืองที่สามารถใช้เล่ห์กล วิชามาร หรือแม้แต่การใช้กำลังเพื่อโค่นล้มกัปตันเพื่อเข้าสู่อำนาจแทน ในขณะที่ตัวเองก็ไม่มีความรู้ในการเดินเรือแต่อย่างใดเลย เขาก็คือ อย่างที่ว่ากัน “คนของประชาชน” ซึ่งได้รับการสรรเสริญจากผู้สนับสนุนว่า เป็นคนที่มีภาวะผู้นำโดยธรรมชาติ ในขณะที่แท้ที่จริงแล้ว เขาคือผู้นำที่รู้จักปลุกปั่นความคิดคน บอกในสิ่งที่คนอยากได้ยิน แต่ในที่สุดอาจเป็นจอมเผด็จการตัวจริง

ผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือตัวจริง เป็นผู้มีความโดดเดี่ยว ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้ง และการทะเลาะเบาะแว้งอยู่ตลอดเวลาระหว่างกัปตันกับลูกเรือ อยากที่จะศึกษาท้องฟ้า ดวงดาว และสายลม แน่อนว่าเขาคือ คนคนเดียวบนเรือลำนี้ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทุกประการ ที่จะเข้าควบคุมเรือ และบังคับเรือไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่เขากลับถูกมองว่าเป็นตัวตลก และไม่ได้เป็นอะไรมากกว่า นักดูดาว นักปั่นวาทกรรม ทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

ทั้งหมดคือ ระบอบประชาธิปไตยในมุมมองของ Plato จะเห็นว่ามีความคล้ายกับระบอบประชาธิปไตยในประเทศเราอยู่หลายส่วน จึงมีคำถามที่สำคัญว่า ระอบประชาธิปไตยของเราควรเป็นอย่างไร จึงจะไม่มีสภาพเหมือนกับที่ Plato กล่าวถึง หรือก็คือไม่มีสภาพเหมือนกับที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เมื่อมีข่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลายคนดีใจ และแสดงความยินดี แต่หลายคนก็รู้สึกหมดแรง ท้อแท้ สิ้นหวัง ตัดพ้อว่าประเทศไทยเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ก็ขอบอกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็คือปรากฏการณ์ของระบอบประชาธิปไตยของไทยที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่อย่าเพิ่งท้อแท้ สิ้นหวัง ดูเขาเล่นหมากรุกกัน ต้องมองหลายชั้น อย่ามองชั้นเดียวเป็นอันขาด

#ข่าววันนี้ #ข่าวการเมือง #การเมือง #อย่าเพิ่งท้อ #อดีตรองอธิการบดีมธ #แพทองธาร #หมากรุก