อว.-บพค. เดินหน้ายกระดับขีดความสามารถระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทยด้วยการเปิดตัวแผนพัฒนากำลังคน “IGNITING THAILAND’S BRAINPOWER” พลิกโฉมอนาคตไทย ด้วยพลังแห่งการสร้างคน
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว เปิดตัวแผนพัฒนากำลังคน ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยนวัตกรรมจุดประกายประเทศไทย สู่การเป็นผู้นำด้านการพัฒนาบุคลากรยุคใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย “IGNITING THAILAND’S BRAINPOWER” จัดงานโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. นำเสนอแผนงานและแถลงวิสัยทัศน์ในการนำส่งนโยบายสู่การปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวง อว. เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบุคลากรที่มีทักษะและสมรรถนะสูง พร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตามแผนยุทธศาสตร์ IGNITE THAILAND ถือเป็นการประกาศความพร้อมของกระทรวง อว. ที่จะนำพาให้ประเทศบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ซึ่งการจัดงานแถลงข่าวในครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในกระทรวง อว. หน่วยงานภาคเอกชน/อุตสาหกรรม ตลอดจนนักวิชาการ อาจารย์และนักวิจัยเข้าร่วมมากกว่า 200 คน
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า “แนวคิดจุดประกายประเทศไทย สู่การเป็นผู้นำด้านบุคลากรยุคใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ IGNITING THAILAND’s BRAINPOWER เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ที่อยากผลักดันให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพสูง พร้อมขับเคลื่อนประเทศไปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าล้ำยุค ซึ่ง บพค. เป็นอีกกำลังสำคัญหนึ่งของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้รับโจทย์ความท้าทายนี้ในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานภาคเอกชนและผู้ใช้ประโยชน์ อันจะเป็นระบบนิเวศการสร้างและพัฒนาบุคลากรสมรรถนะและทักษะสูงได้อย่างครบ Value Chain”
สำหรับการเปิดตัวแผนพัฒนากำลังคนภายใต้แนวคิด บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จ เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างและพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะ ความรู้และความสามารถที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต (Demand-driven platform) โดยแผนดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก ทั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของทุกภาคส่วน คือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวเร่งให้เราสามารถเดินทางไปสู่จุดหมาย อันเป็นเป้าหมายของการสร้างคนของประเทศได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ แก่เยาวชนไทยที่กำลังจะเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น มีระบบนิเวศที่เพียบพร้อมรองรับการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดทุกช่วงวัย (Lifelong learning) ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบการศึกษาได้ ซึ่งกระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้การสร้างและพัฒนาคนเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาคและของโลก
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. กล่าวเปิดเผยถึงแผนงานตามนโยบายของกระทรวง อว. ว่า “บพค. ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านการสร้างและพัฒนากำลังคน ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ซึ่งสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตระหนักดีว่า ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสังคมนั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนให้รองรับความผันผวนของเทคโนโลยีด้วยการสร้างทักษะใหม่ ๆ และองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแผนพัฒนากำลังคนของเราได้ออกแบบโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกและความท้าทายในอนาคต โดยการพัฒนาคนให้มีทั้ง Hard Skill ที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะในสาขานั้น ๆ Technical Skill ทักษะเชิงเทคนิคอันจำเป็นการทำงานในสายอาชีพ และ Soft Skill ทักษะเชิงสมรรถนะส่วนบุคคลอันจำเป็นการพัฒนาชุดความคิด (Mindset) ซึ่งองค์ประกอบของทั้ง 3 ส่วนนี้จะทำให้ทรัพยากรบุคคลมีศักยภาพที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมใหม่ๆของไทยได้เจริญเติบโตก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle, EV) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, AI) และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก”
ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ กล่าวเสริมอีกว่า การพัฒนากำลังคนเพื่อป้อนเข้าสู่ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายดังที่กล่าวข้างต้นตามแนวทางของกระทรวง อว. เป็นภารกิจของเราที่มุ่งเน้นการสร้างและสนับสนุนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสร้างผลงานวิจัยอันเป็นเทคโนโลยี-นวัตกรรมแห่งอนาคต ซึ่ง บพค. มีเครื่องมือที่สนับสนุนกลไกการสร้างคนกลุ่มเหล่านี้ได้ ตั้งแต่ระยะสั้น (Short-term) ที่เป็นการพัฒนาทักษะเดิม-เพิ่มทักษะใหม่-อบรมบุคลากรผู้สอน (Reskill/Upskill/Train the trainer) ระยะกลาง (Middle-term) ที่เป็นแพลตฟอร์มนักวิจัยระดับหลังปริญญา (National Post-doctoral/Post-graduate system) และระยะยาว (Long-term) ที่เป็นแพลตฟอร์มวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย - ธัชวิทย์ (Thailand Academy of Sciences, TAS) มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรนักวิจัยสมรรถนะสูงตอบโจทย์ตามความต้องการของหน่วยงานวิจัยและภาคเอกชน/อุตสาหกรรม ซึ่งมีงานรองรับหลังสำเร็จการศึกษา/วิจัย โอกาสนี้ บพค. มีความพร้อมที่จะแถลงความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีศักยภาพสูงตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรม EV จำนวน 3,600 คน อุตสาหกรรม AI ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์และ EV จำนวน 4,400 คน และอุตสาหกรรม Semiconductor จำนวน 9,500 คน ภายใน 5 ปี ซึ่งจะช่วยยกระดับให้ประเทศไทยมีสัดส่วนนักวิจัยจำนวน 40 คนต่อประชากร 10,000 คนให้ได้ตามเป้าหมายปี 2570 ทั้งนี้ การสร้างกำลังคนให้มีสมรรถนะและทักษะสูงจำเป็นต้องออกจากกรอบแนวความคิดเดิม เปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างกลุ่มคนระดับแนวหน้าของประเทศที่เรียกว่า Brainpower อย่างแท้จริง และ บพค. พร้อมที่จะสร้างระบบการพัฒนากำลังคนเหล่านี้ให้คงอยู่ได้ในระยะยาว เพื่อตอบโจทย์การสร้างคนอย่างยั่งยืนและนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “จุดประกายประเทศไทย: พลังคนไทยสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรม” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยสถาบันไอเอ็มซี เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมี คุณอรรณพ กิตติกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่มุ่งเน้นประเด็นความท้าทายของการพัฒนาคนในยุคแห่ง Disruptive Technology เชื่อมโยงไปถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนที่เป็นกำลังขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนากำลังคนของประเทศ ให้บรรลุสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านบุคลากรที่มีคุณภาพสูงแห่งภูมิภาคในอนาคต