วันที่ 16 สิงหาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2567 นั้นถือว่าเป็นการสิ้นสุดตามกระบวนการแล้ว โดยตนในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ลงนามในคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน เวลานั้นยืนยันว่าดำเนินการด้วยเหตุผลและเจตนาที่สุจริต ไม่มีอคติต่อผู้ใด รวมทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้ดุลยพินิจให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย การที่เรื่องดำเนินมาจนถึงบัดนี้ถือเป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่ใช้ดุลยพินิจและดำเนินการไปยืนยันว่าไม่ได้มีความรู้สึกดีใจหรือเสียใจ ถือว่ากระบวนการให้ออกราชการไว้ก่อนนั้นเสร็จสิ้นตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกขั้นตอนแล้ว หาก พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ต้องการใช้สิทธิ์เรียกร้องความเป็นธรรมก็สามารถใช้ช่องทางฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด หากศาลมีคำวินิจฉัยเช่นไรก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ส่วนกรณี พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ถูกสอบสวนวินัยร้ายแรงโดยคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจที่มี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รองผบ.ตร.เป็นประธาน นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนผลจะออกมาเป็นเช่นไรไม่สามารถก้าวก่ายได้ คณะกรรมการสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานและมีดุลยพินิจว่าจะมีความผิดทางวินัยในระดับใด หากไม่ผิดก็ยุติเรื่อง หากพบว่าผิดวินัยร้ายแรงก็ดำเนินการปลดออก ไล่ออก ตามขั้นตอน ส่วนจะมองว่าเป็นการลงดาบสองหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวอีกว่าขณะนี้มีแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)คนต่อไป 3 คน ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะเสนอชื่อผู้ไม่ว่าจะเป็นอาวุโสระดับใดก็ถูกนำเสนอชื่อได้อยู่แล้วตนในฐานะอาวุโสอันดับ 1 ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องถูกเสนอชื่อ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากประวัติผลงาน ความประพฤติ ประกอบกับระดับอาวุโสตามกฎหมายตำรวจ