เมื่อวันที่ 16 ส.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางปรับปรุงจุดฝืดการจราจรในกรุงเทพมหานครว่า เป้าหมายหนึ่งของ กทม.จากทั้งหมด 31 เป้าหมายในปี 2568 คือการผายปากทางเพิ่มความคล่องตัวการจราจรในพื้นที่เขตต่าง ๆ เริ่มดำเนินการตามแผนระยะแรกแล้วที่บริเวณหน้าโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา และถนนสุทธิสาร บริเวณแยกประชาสุข เขตดินแดง โดยการเจรจาขอซื้อพื้นที่บางส่วนเพื่อขยายวงเลี้ยวให้กว้าง ปรับพื้นถนน และยกฝาท่อระบายน้ำให้เสมอกัน จุดประสงค์เพื่อให้การจราจรคล่องตัว รถเลี้ยวได้สะดวก เชื่อว่าหากดำเนินการผายปากทางจุดฝืดต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ จะช่วยให้การจราจรในภาพรวมคล่องตัวขึ้น

 

"โครงการผายปากทางคือการทำให้รถเลี้ยงง่ายขึ้น บางจุดอย่างถนนประชาสุขกับสุทธิสาร เป็นซอยตัด และเลี้ยวเป็นมุมฉาก กทม.มีการเวนคืนพื้นที่เพิ่ม โดยการเจรจาขอซื้อ เพื่อทำให้ถนนโค้งง่ายขึ้น แต่ก่อนรถเมล์เลี้ยวทีกินไปสองเลน การปาดถนนเพิ่มทำให้การจราจรไหลคล่องขึ้น เลี้ยวง่ายขึ้น รถที่มาทางตรงก็ไปได้เร็วขึ้น" ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

 

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสำรวจรวบรวมจุดฝืดจราจร กทม.ตั้งเป้าผายปากทางในปีนี้ 59 จุด ดำเนินการแล้วเสร็จ 21 จุด กระจายไปยังเขตต่าง ๆ ได้แก่ ดอนเมือง คลองสามวา สาทร วัฒนา บางบอน ยานนาวา วังทองหลาง บางเขน สายไหม ดินแดง ลาดกระบัง โดยเน้นการขยายจุดตัดทางแยก และปากซอยเพื่อให้รถเข้าออกสะดวก ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 15 จุด ในพื้นที่ ได้แก่ เขตทุ่งครุ บางขุนเทียน บางกอกใหญ่ หนองแขม ห้วยขวาง จตุจักร คลองสาน ซึ่งมีการออกแบบเสร็จแล้ว

 

ในจุดที่กำลังก่อสร้างโดยสำนักงานเขตคือ เขตพระโขนง ได้แก่ ซอยสุขุมวิท 66/1 แยก 21 เชื่อมต่อซอยเวชอนุสรณ์ (สุขุมวิท 64) เขตดอนเมือง ได้แก่ ทางแยกถนนช่างอากาศอุทิศตัดกับถนนประชาอุทิศ (แยกศิริสุข) ซอยประชาอุทิศ 14 (ซอยวัดเทพนิมิต) กับถนนช่างอากาศอุทิศ เขตทุ่งครุ ได้แก่ ปากทางเข้าสวนบุรีรมย์ เขตสัมพันธวงศ์ ได้แก่ ปากถนนข้าวหลามตัดถนนเจริญกรุง คาดเสร็จปลายปีนี้

 

ในปี 2568 กทม.ตั้งเป้าเพิ่ม 33 จุด โดยภาพรวม กำหนดจุดผายปากทางเบื้องต้น 187 จุด ยกเลิก 36 จุด คงเหลือ 151 จุด เสร็จแล้ว 21 จุด รอก่อสร้าง 15 จุด อยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภค 30 จุด อยู่ระหว่างสำนักงานเขตก่อสร้าง 5 จุด และประสานเจ้าของพื้นที่ 3 จุด อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 7 จุด กฟน.มีแผนสายไฟลงดิน 8 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 จุด เตรียมนัดลงพื้นที่ 39 จุด อยู่ระหว่างเวนคืน 19 จุด เตรียมเสนอยกเลิก 1 จุด

 

"การผายปากทาง จำเป็นต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กฟน.เพื่อหักเสาไฟฟ้า และหาจุดปักเสาใหม่ รวมถึงการย้ายป้าย การติดตั้งไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ซึ่งบางจุดยังดำเนินการไม่ได้ ต้องหาแนวทางใหม่ เช่น ปากซอยจอมทอง 14 กฟน.หาจุดปักเสาใหม่ไม่ได้ ปากซอยสุขสวัสดิ์ 14 อยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง (กฟน.) เป็นต้น" นายวิศณุ กล่าว

 

ทั้งนี้ การเวนคืนพื้นที่คิดตามราคาประเมินที่ดินต่อตารางวาของแต่ละพื้นที่ โดยบางพื้นที่อาจต้องมีค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างร่วมด้วย เช่น การขยายจุดผายปากทางซอยวัดเวฬุวนาราม 9 กับถนนวัดเวฬุวนาราม และขยายเขตทางถนนช่างอากาศอุทิศตัดถนนเชิดวุฒากาศ ในส่วนการเวนคืนพื้นที่ทั้งหมด 19 จุด ใน 12 พื้นที่เขต ได้แก่ ดอนเมือง คลองสามวา สายไหม คันนายาว บางกะปิ บางเขน บางซื่อ หนองแขม บางคอแหลม คลองเตย บางนา หนองจอก ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 52,477,912.50 บาท แบ่งเป็น ค่าทดแทนที่ดิน 19 จุด เป็นเงิน 25,485,275 บาท ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง 2 จุด เป็นเงิน 9,500,000 บาท และปรับเพิ่มค่าทดแทนต่าง ๆ ร้อยละ 50 เป็นเงิน 17,492,637.50 บาท

​​​​​​​