เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัว เพราะเหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) นั้น
นายเรืองไกร กล่าวว่า โดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 นั้น ทำให้มีประเด็นที่ต้องร้องไปที่ ป.ป.ช. ตามมาด้วย ดังนั้น ในเช้าวันนี้ ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามคำร้องต่อไป โดยมีความดังนี้
“ข้าพเจ้า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่อยู่ข้างต้น ขอให้ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยว่า โดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 จะเป็นเหตุให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่
ตามข่าวศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า “ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการ ปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป”
โดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพัน ป.ป.ช. ด้วย กรณีจึงมีความจำเป็นต้องขอให้ ป.ป.ช. คัดสำเนาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งสรรพเอกสารมาถือเป็นสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เพื่อเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไป ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 (1)
จึงเรียนมาเพื่อขอให้ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยว่า โดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 จะเป็นเหตุให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่”
นายเรืองไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ต้องร้องนายกฯเศรษฐา ไปที่ ป.ป.ช. เพราะหากต่อมา ศาลฎีกาวินิจฉัยตามศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดไปด้วย และตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้มีรัฐมนตรีอีกหลายคนที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรม ที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป
นายเรืองไกร กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้คณะรัฐมนตรีจะพ้นทั้งคณะ แต่ในวันนี้เวลาประมาณ 13.00 น. ตนก็ยังต้องไปให้ถ้อยคำที่ กกต. เนื่องจากเป็นกรณีที่ร้องว่ารัฐมนตรีสองรายถือหุ้นเกินร้อยละห้า หรือไม่ ซึ่งหากถูกวินิจฉัยตามที่กล่าวหา จะต้องเว้นวรรคสองปีตามมาตรา 160 (8) กรณีดังกล่าว จึงไม่ตกไป