วันที่ 16 ส.ค.67 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า
" รัฐสมบัติ
รัฐสมบัติ หรือ Patrimonial State คือ รัฐที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นเจ้าของ เมื่อผู้ปกครองคนหนึ่งพ้นไป ก็ส่งมอบตำแหน่งให้สมาชิกในตระกูลขึ้นดำรงตำแหน่งต่อไป ตำแหน่งผู้ปกครองรัฐ และรัฐนั้น จึงเสมือนเป็น “ทรัพย์สมบัติ“ ของตระกูล ที่สามารถเป็น ”มรดก“ ยกต่อให้ทายาทในตระกูลได้
รัฐสมบัติ ไม่แยกแยะเรื่อง ”ส่วนตัว” กับ “ส่วนรวม” ออกจากกัน นำเรื่องของครอบครัว เรื่องของตนเอง ให้กลายเป็นเรื่องของรัฐ ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐถูกนำไปปะปนกับการใช้จ่ายส่วนตน นโยบายของรัฐถูกนำไปปะปนกับความต้องการส่วนตน ส่วนครอบครัว
รัฐสมบัติจึงแตกต่างจากรัฐแบบสมัยใหม่ ที่พยายามแยกแดนส่วนตัวออกจากแดนสาธารณะ
รัฐแบบสมัยใหม่ สร้าง “รัฐ” ให้เป็นนิติบุคคล แยกออกจาก “คน” และกำหนดให้มี “ตำแหน่ง” เข้าใช้อำนาจรัฐ โดยมีกระบวนการได้มาซึ่งตำแหน่งนั้นไว้ มิให้ยกสืบทอดกันเป็นมรดกในตระกูล
ในโลกปัจจุบัน ครอบครัวหนึ่ง ทำธุรกิจร่ำรวย เมื่อพ่อแม่ตายไป ก็ยกมรดกให้ลูก เช่นนี้ คงไม่มีใครว่า เพราะ เป็นเรื่องส่วนตัว เอกชน ครอบครัวตนเอง
ถึงกระนั้น ความคิดแบบสมัยใหม่ยังมองว่าไม่เป็นธรรม ทำให้คนที่ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองเสียเปรียบ จึงได้คิดมาตรการสร้างความเสมอภาค เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เป็นต้น
ในขณะที่ครอบครัวเศรษฐีเอง ก็ตระหนักดีถึง “กฎธรรมชาติ” ที่ว่า ความสามารถ อำนาจ บารมี ไม่อาจถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม พวกเขาจึงจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามา
แล้วถ้าเป็นรัฐ เป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องมหาชน เรื่องแดน Public มิใช่แดน Private ล่ะ?
เราสามารถยอมให้การบริหารรัฐ กลายเป็นเรื่องของครอบครัว ตระกูล ได้หรือ?
จะเป็นไปได้อย่างไรที่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกรัฐ เป็นเจ้าของรัฐร่วมกัน ต้องยินยอมครอบครัวหนึ่ง ตระกูลหนึ่ง ยก “อำนาจรัฐ” ให้กันเองภายในตระกูล ราวกับเป็น “สมบัติ” เป็น “มรดก” ได้
สภาวการณ์ “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” วันนี้ นำมาซึ่ง “ประชาธิปไตย 2 ตระกูล”