วันที่ 16 ส.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม.นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบเดินรถด่วนพิเศษ (BRT) สายสาทร -ราชพฤกษ์ ว่า วันที่ 20 ส.ค.นี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) จะทยอยนำรถโดยสารปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ทดสอบการเดินรถวิ่งไปกลับโดยไม่รับผู้โดยสาร ในเส้นทางบีอาร์ทีปัจจุบัน และทดสอบจอดรถรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายหยุดรถประจำทาง เพราะตัวรถบีอาร์ทีรุ่นใหม่จะมีประตูขึ้นลงได้ทั้งสองฝั่ง สามารถรับส่งผู้โดยสารที่สถานีบีอาร์ที โดยใช้ประตูฝั่งขวาด้านคนขับ หากเข้าจอดที่ป้ายหยุดรถประจำทางสามารถใช้ประตูด้านซ้ายขึ้นลงได้ รวมทั้งทดสอบระบบต่าง ๆ อาทิ ชาร์จไฟ อุปกรณ์ความปลอดภัย เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการฟรีอย่างทางในวันที่ 1 ก.ย.นี้ และจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารเดือน พ.ย.67 ในราคา 15 บาทตลอดสาย

 

ทั้งนี้ระบบจัดเก็บค่าโดยสารจะใช้บัตรแรบบิท สามารถซื้อบัตรที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ทุกสถานี และสามารถใช้โทรศัพท์สแกนคิวอาร์โค้ดบัตรโดยสารขึ้นรถได้ด้วย โดยสถานีจะไม่มีช่องทางการจำหน่ายบัตรโดยสาร เพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เช่น พนักงานขายตั๋ว ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานจะเท่ากับรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีผู้โดยสารประมาณ 12,000-15,000 คน/วัน ส่วนเส้นทางการเดินรถบีอาร์ที เบื้องต้นจะวิ่งเส้นทางเดิมตามที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก (ขส.) จากการหารือการขยายเส้นทางเบื้องต้น ขส. ให้วิ่งในเส้นทางเดิม เพื่อดูปริมาณผู้โดยสารก่อน หากมีปริมาณผู้โดยสารมากขึ้น สามารถขออนุญาตเพิ่มเติมในภายหลังได้

 

สำหรับโครงการนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)ได้ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) ดำเนินการโครงการเป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินงบประมาณ ​478,932,000 บาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา กำหนดให้บีทีเอสซีจัดหารถโดยสารปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ให้ตรงตามคุณสมบัติ ไม่น้อยกว่า 23 คัน ซึ่งสเปคที่กำหนดจะต้องมีระบบการชาร์จ/เครื่องชาร์จไฟที่มีการใช้งานกันแพร่หลาย แบตเตอรี่มีขนาดความจุไม่น้อยกว่า 150 kWh ชนิด Lithium iron phosphate หรือเทียบเท่าหรือดีกว่า และโครงสร้างตัวถังชุบเคลือบผิวด้วยระบบไฟฟ้า (EDP) มีขนาดความยาวรถโดยสาร 10-12 เมตร รัศมีวงเลี้ยวไม่เกิน 12.5 เมตร

 

จำนวนที่นั่งผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 24 ที่นั่ง สามารถปรับเปลี่ยนขนาดรถโดยสาร โดยจะต้องคงความสามารถในการให้บริการ PPHPD ได้ตามที่กำหนดไว้ และมีพื้นที่รองรับรถเข็นผู้พิการ (Wheel chair) พื้นที่ทางเข้า-ออก และตัวรถโดยสารเป็นรูปแบบ Low Floor ความสูง 25-30 ซม.จากระดับพื้นถนน ความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดบนช่วงโครงข่ายการเดินทางต่างๆ มีประตูทางเข้า-ออกทั้งทางด้านฝั่งซ้ายและขวาของตัวรถโดยสาร ประตูทางเข้า-ออกหลักความกว้าง 1.4 เมตร สามารถปรับลดขนาดได้แต่ไม่น้อยกว่า 1.2 เมตร

 

ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานของกรมขนส่งทางบก และระบบกล้องวงจรปิด CCTV อย่างน้อย 5 ตัว (กล้อง CCTV อย่างน้อย 2 ตัว จับภาพบริเวณเครื่องจัดเก็บค่าโดยสาร) ติดตั้งระบบ GPS และระบบตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งรถโดยสาร (ส่งสัญญาณข้อมูลทุกๆ 15 วินาทีหรือน้อยกว่า) พร้อมระบบการทำงานเป็นไปตามประกาศกรมขนส่งทางบกกำหนด เป็นไปตามมาตรฐานกันน้ำและฝุ่น IP67 และสามารถเดินรถได้หากมีน้ำท่วมขังที่ระดับความสูงไม่เกิน 30 ซม. ป้ายแสดงข้อมูลหมายเลข และเส้นทางเดินรถด้านหน้ารถโดยสาร (ชนิดปรับเปลี่ยนได้) พร้อมระบบปรับอากาศมีขนาด 100,000 - 130,000 BTU