ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : พาไปเปิดมุมมองใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ชมธรรมจักรพร้อมแท่นและเสาสมบูรณ์ที่สุดหนึ่งเดียวในไทย
กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ระยะ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568 โดยซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารจัดแสดงและนิทรรศการถาวรให้มีความทันสมัย ด้วยเทคนิคการจัดแสดงสมัยใหม่ที่น่าสนใจดึงดูดผู้เข้าชม และปรับปรุงข้อมูลการจัดแสดงให้เป็นปัจจุบัน มีมาตรฐานระดับสากล นำเสนอเรื่องราวของเมืองโบราณอู่ทองและวัฒนธรรมทวารวดีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ
นิทรรศการภายในนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองโบราณอู่ทองและพื้นที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในประเทศไทย จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่มีคุณค่าทางวิชาการจำนวนมาก และเก็บรักษาโบราณวัตถุวัฒนธรรมทวารวดี ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรมศิลปากร หนึ่งในไฮไลท์สำคัญคือการจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ธรรมจักร แท่น และเสา พบจากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข 11 เมืองโบราณอู่ทอง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 หรือประมาณ 1,300 – 1,400 ปีมาแล้ว ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการประดิษฐานธรรมจักรที่สมบูรณ์ที่สุดที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในสมัยทวารวดี มีการสร้างธรรมจักรประดิษฐานบนเสา ตั้งอยู่ด้านหน้าศาสนสถาน ทั้งนี้ ห้องจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ประกอบด้วย
ทวารวดี ปฐมบทแห่งประวัติศาสตร์ไทย ห้องวีดีทัศน์บรรยายสรุปเรื่องเมืองโบราณอู่ทองและวัฒนธรรมทวารวดี กล่าวถึงการติดต่อกับดินแดนภายนอก ทำให้เกิดการรับอารยธรรมจากอินเดียเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น การนับถือศาสนา การปกครองโดยระบบกษัตริย์ การสร้างงานศิลปกรรม และการใช้ตัวอักษรและภาษา
เมืองโบราณอู่ทอง : ศูนย์กลางแรกเริ่มของวัฒนธรรมทวารวดี จุดเชื่อมโยงเส้นทางการค้าในดินแดนสุวรรณภูมิ โบราณวัตถุสำคัญได้แก่ เหรียญโรมันจักรพรรดิวิคโตรินุส ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจากตะวันออกกลางประดับบนปูนปั้นสมัยทวารวดี เหรียญอาหรับ เครื่องถ้วยจีน และปูนปั้นรูปใบหน้าพ่อค้าชาวต่างชาติ และมีสื่อวีดีทัศน์ประกอบโมเดลภูมิประเทศ บอกเล่าเรื่องราวของเมืองโบราณอู่ทอง
โบราณคดีเมืองอู่ทอง: พ.ศ.2446 - ปัจจุบัน ศตวรรษสำคัญงานโบราณคดีในประเทศไทย จัดแสดงเรื่องงานโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทอง ตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการเมืองอู่ทองใน พ.ศ.2446 จนถึงการดำเนินงานทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากรในปัจจุบัน และจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานเมืองโบราณอู่ทองซึ่งมีทั้งเจดีย์และวิหารเนื่องในศาสนาพุทธ และศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เช่น พระพุทธรูปปางแสดงธรรม สมัยทวารวดี จากเจดีย์หมายเลข 11
เจดีย์ วิหาร โบราณสถานทวารวดี: สถาปัตยกรรมแห่งศรัทธา ปฐมบทของพุทธศาสนาในดินแดนไทย จัดแสดงสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยแรกของประเทศไทย โบราณวัตถุสำคัญ เช่น อิฐฤกษ์ ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมวางฤกษ์เมื่อเริ่มสร้างศาสนสถาน และประติมากรรมปูนปั้นและดินเผาประดับศาสนสถาน
ลูกปัดและเครื่องประดับทองคำ: วัตถุล้ำค่า ความงามที่สะท้อนความรุ่งเรืองของเมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดงลูกปัดและเครื่องประดับ ซึ่งพบบริเวณเมืองโบราณอู่ทองเป็นจำนวนมาก โบราณวัตถุสำคัญ เช่น ลูกปัดหินคาร์เนเลียนและอาเกต ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากอินเดีย เครื่องประดับทองคำ สมัยทวารวดี และแผ่นดินเผารูปบุคคลฟ้อนรำ แสดงถึงการสวมใส่เครื่องประดับของผู้คนในสมัยทวารวดี
ศาสนาและความเชื่อ: จากพุทธภูมิสู่สุวรรณภูมิ อรุณรุ่งแห่งยุคประวัติศาสตร์ไทย จัดแสดงเรื่องศาสนาและความเชื่อที่เมืองโบราณอู่ทอง สันนิษฐานว่ามีการนับถือศาสนาพุทธแบบเถรวาทเป็นหลัก โดยมีการนับถือศาสนาพุทธแบบมหายานร่วมอยู่ด้วย นอกจากนี้พบหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และพบโบราณวัตถุที่แสดงถึงความเชื่อท้องถิ่นที่พบเฉพาะในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ยังไม่สามารถสรุปคติในการสร้างอย่างแน่ชัด โบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ แผ่นดินเผารูปพระภิกษุอุ้มบาตร จารึกคาถาเย ธฺมมา ซึ่งเป็นคาถาหัวใจสำคัญของศาสนาพุทธ พระพิมพ์ภาพพระสาวกมีจารึก เศียรพระพุทธรูปทองคำ เอกมุขลึงค์ ตุ๊กตารูปคนจูงลิง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เปิดบริการวันพุธ–อาทิตย์ เวลาราชการ วันหยุดราชการพิเศษและนักขัตฤกษ์ มีค่าธรรมเนียมเข้าชม