“หอการค้าฯ” มอง “เศรษฐา” หลุดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกระทบเศรษฐกิจระยะสั้น แนะเร่งเบิกจ่ายงบภาครัฐขับเคลื่อน ศก.ต่อเนื่อง “ส.อ.ท.” หวังเลือกนายกฯ ใหม่ได้เร็ว ห่วงสุญญากาศการเมืองฉุด ศก.


ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้นายกฯ เศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งตามไปด้วยทั้งคณะนั้น

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.67 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียง 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีว่า ในมุมมองของหอการค้าฯต่อผลการตัดสินของศาลที่ออกมาถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ แต่ในส่วนของเศรษฐกิจต้องบอกว่ากระทบความเชื่อมั่นของประเทศระยะสั้น โดยเฉพาะโครงการ และแผนงานต่างๆที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้

โดยหอการค้าฯเชื่อว่า ในช่วงที่จะต้องรอเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่พร้อม ครม. ชุดใหม่ ซึ่งมีกระบวนการไม่น้อยกว่า 1 เดือนคงจะมีการเร่งกระบวนการ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป เชื่อว่าจะไม่กระทบประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้ ซึ่งการท่องเที่ยวยังเดินหน้าต่อไปได้ และช่วงนี้อยากให้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ขณะที่สภาฯยังสามารถพิจารณางบประมาณปี 2568 ได้ต่อ

ทั้งนี้หอการค้าฯ อยากเห็นการเมืองที่กลับมาเดินหน้าอย่างมีเสถียรภาพโดยเร็วที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาปากท้องของประชาชนในภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ ต้องเร่งแก้ไขปัญหา หวังว่าฝ่ายการเมืองโดยระบบรัฐสภาจะได้ช่วยกันในการที่จะดำเนินตามกระบวนการของประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสู่การรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารด้านประเทศ ให้เติบโตได้ตามศักยภาพต่อไป

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภา​อุตสาหกรรม​แห่ง​ประเทศไทย ​หรือ ​ส.อ.ท. กล่าว​ถึง​ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายเศรษฐา​ ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า​ ภาคเอกชน​อยาก​ให้​ทุกอย่าง​ผ่าน​ไปด้วยดี​ โดยไม่ต้องการให้การเมืองเกิดภาวะสะดุด​ ไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาวเนื่องจาก​จะส่งผลกระทบ​ต่อความเชื่อ​มั่น​ของ​นักลงทุน​ทั้งในประเทศ​และ​ต่างประเทศ​ คำถาม​ที่จะเกิดขึ้น​ตามมาคือ​ ใครจะมาเป็นผู้​นำรัฐบาลคนต่อไป​ นโยบาย​ต่างๆ​จะเปลี่ย​น แปลงหรือไม่​ ดังนั้น​การ​ลงทุน​ต้องเกิดการชะลอตัวเพื่อ​ดูความชัดเจน​ทางการเมือง​ ไทย​จะเสีย​โอกาสการแข่งขัน

โดยขณะนี้​มีปัจจัยแวดล้อมภายนอกกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว​ ทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้อ มีหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูง หากต้องเริ่มต้นกันใหม่ คงต้องใช้เวลาและกว่าจะถึงเป้าหมายก็ลำบาก​ การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี​ แม้จะไม่ใช่​เป็น​การ​นับหนึ่ง​ใหม่​ทั้งหมด​ แต่ทำให้​การขับเคลื่อน​เศรษฐกิจ​หยุดชะงัก​ เหมือน​ขับรถไปแล้วรถเสียต้องลงมาเข็น​แต่​ภาคเอกชนน้อมรับผลการตัดสิน ตามมิติของศาลรัฐธรรมนูญ​และ​ยังคงพยายาม​ขับเคลื่อน​เศรษฐกิจ​อย่า​งเต็มที่​และ​ดีที่สุด

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มี ครม.​ใหม่ แต่เงินงบประมาณ​ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ขอให้เดินหน้าต่อ​ อย่าหยุด ขอให้เบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง อย่าเกียร์ว่าง ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วในรัฐบาลก่อนหน้าซึ่งการเบิกจ่าย​งบประมาณล่าช้าทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่งผล​สูญเสียโอกาสในทุกด้าน