“กก.บห.เพื่อไทย” เคาะชื่อ “แพทองธาร” นั่งนายกฯ คนที่ 31 เตรียมโหวตวันนี้ พรรคร่วมรัฐบาลขั้วเดิมพร้อมหนุน “ภูมิธรรม” ลั่นมติเอกฉันท์พรรคร่วมฯ ส่ง “แคนดิเดตนายกฯ” จากพรรคเพื่อไทย ร่วมโหวต 16 สิงหาฯ หึ่ง! สส.ส่งชื่อ “อุ๊งอิ๊ง”เสียบแทน “ชัยเกษม” ส่วน “สมคิด” ยัน “ชัยเกษม” ไม่ใช่ขัดตาทัพใคร มั่นใจตั้ง รบ.ชุดใหม่ไร้ปัญหา ส่วน “ภท.” มีมติหนุน “นายกฯ”จากพรรคเพื่อไทย“อนุทิน” ลั่นพรรคร่วม รบ.จับมือกันแน่น ไม่เอามาตรา 112 ส่วน “รทสช.”เอาด้วย! ย้ำโควตา รมต.เหมือนเดิมเปลี่ยนแค่ผู้นำ “เรืองไกร” ซ้ำดาบสอง จี้ ป.ป.ช.ส่งเรื่อง “เศรษฐา” ให้ศาลฎีกาวินิจฉัยฝ่าฝืนจริยธรรมหรือไม่
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้อง พ้นตำแหน่งตามไปด้วยนั้น
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.67 นายสมคิด เชื้อคง อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยได้นัดประชุมกันในเช้าวันนี้(15ส.ค.) เพื่อกำหนดชื่อตัวบุคคล ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเท่าที่ทราบข่าว คือนายชัยเกษม นิติสิริ แต่ก็มีหลายเสียงไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามจะมีการนัดโหวต ในช่วงเวลา 10.00 น. ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ ส่วนที่มีการวิจารณ์เรื่องสุขภาพของนายชัยเกษม จะไหวกับการบริหารประเทศ ที่ค่อนข้างหนักหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า นายชัยเกษมก็แข็งแรงดี ไม่ได้ไปแบกข้าว ไปเป็นรัฐมนตรี
“การเสนอชื่อนายชัยเกษม ไม่ใช่การขัดตาทัพ และเชื่อมั่นว่า การตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะไม่มีปัญหา และยังไม่ได้รับโทรศัพท์ว่า พรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีใครแตกแถว”
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาการนายกฯกล่าวว่า ตนเพิ่งคุยกับนายเศรษฐา เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ภายหลังศาลมีคำวินิจฉัย โดยนายเศรษฐาเป็นห่วง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่มีการเปลี่ยนแปลง และฝากให้ทำสิ่งที่ทำค้างไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์
เมื่อถามว่า การทำงานของรัฐบาลช่วงก่อนที่จะมีนายกฯ คนใหม่ จะสะดุดหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่มีอะไรสะดุด เพราะตามกลไกทั้งหมด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้ยังทำหน้าที่รักษาการ เป็นชุดเดิมทั้งหมด เพียงแต่นายกฯ ที่ไม่สามารถรักษาการต่อได้ตามข้อกฎหมาย เพราะฉะนั้น ทุกคนยังเป็นรัฐบาลพรรคร่วม ซึ่งมีนโยบายเดิมที่ทำกันอยู่แล้ว และทุกคนมีหน้าที่ในการบริหารจัดการ หน้าที่ของเราคือทำให้ต่อเนื่องเร็วที่สุด ดีที่สุด และคงมีกระบวนการเลือกนายกฯ ใหม่อีกครั้ง โดยเร็ววัน
นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกระแสข่าวล่าสุดที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต้องการให้เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นว่าที่นายกฯคนต่อไปว่า ได้มีการประสานมาถึงตนแล้ว และทราบแล้ว ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องพิจารณาต่อไป ส่วนที่เป็นห่วงกันเรื่องการสานงานต่อนโยบายของรัฐบาลนั้นก็เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตามบุคลากรของพรรคเพื่อไทยก็ต้องพิจารณาดำเนินการ สิ่งที่สำคัญวันนี้คือพรรคร่วมรัฐบาล ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้นายกฯมาจากพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นก็เป็นภาระของพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องหานายกรัฐมนตรี ซึ่งตามระเบียบข้อกฎหมายก็ได้เพียง 2 คน คือนายชัยเกษม นิติสิริ และ น.ส.แพทองธาร
เมื่อถามว่า แต่มีกระแสข่าวว่าจากการพูดคุย ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อคืนวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นชื่อ นายชัยเกษม มีเหตุผลใดถึงเปลี่ยนเป็น น.ส.แพทองธาร นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบเรื่องที่สื่อมวลชนทำในวันนี้ เพียงแต่เมื่อช่วงเช้าที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย ก็รับฟังจากส.ส. และได้รับรายงานเข้ามาก็บอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวเราค่อยช่วยกันคุย แต่เราก็จะต้องคิดให้ดีที่สุด เพราะในขณะนี้เราต้องยอมรับในสถานการณ์ที่ต้องเรียกว่าฉุกเฉิน
เมื่อถามย้ำว่าสรุปว่าแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยยังคงเป็น 2 ชื่อคือ นายชัยเกษมและน.ส.แพทองธารใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันยังมี 2 ชื่อ เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคยังไม่ได้พิจารณา กรรมการบริหารนั้น ตามข้อบังคับพรรคและมีอำนาจในการตัดสินใจเสนอชื่อคนที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งถ้าตัดสินใจแล้วถือเป็นที่สุด ตอนนี้ใครจะพูดอะไรอย่างไรก็ได้ แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่ากรรมการบริหารจะเอาอย่างไร แต่ในการเสนอชื่อเข้าสภาพรรคเพื่อไทยต้องเสนอชื่อเดียว
เมื่อถามว่า นายชัยเกษม มีปัญหาอยู่สองกรณีคือเรื่องที่เคยออกมาพูดจะแก้มาตรา112 และในช่วงที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดไม่ได้มีการสั่งฟ้องคดีถุงขนม นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทั้งหมดยังเป็นคำกล่าวหาหรือเป็นข้อท้วงติง ส่วนตัวยังคิดว่ายังไม่มีอะไรที่บรรลุว่าเป็นความผิดของนายชัยเกษม ส่วนตัวตนไม่รู้ว่าเป็นจริงหรือเปล่า จึงอยากให้เวลากับกระบวนการ ซึ่งวันนี้ก็ถือว่าเร็วที่สุดแล้ว ที่วันศุกร์ที่ 16 ส.ค. จะมีการเลือกนายกฯ
เมื่อถามว่า ถ้าเป็น น.ส.แพทองธาร จะเกิดอาถรรพ์ตระกูลชินวัตรอีกหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปคิดอะไรเลยเถิด ถ้าเราตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีที่สุด ได้คนที่มีความรู้ความสามารถก็น่าจะเดินได้ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อถามว่า จำเป็นต้องคุยกับคุณพ่อคุณแม่ของ น.ส.แพทองธาร หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร เป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นถึงหัวหน้าพรรค ไม่ต้องไปคุยกับใคร เมื่อถามว่า แต่ดูเหมือนว่า คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดา จะไม่ยอมให้มาเผชิญชะตากรรม นายภูมิธรรมกล่าวย้อนถามว่า “ อันนี้รู้ใจคุณหญิงอ้อได้อย่างไร คนเป็นแม่ก็รักลูกกันทุกคน“
เมื่อถามว่า นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ไปให้สัมภาษณ์สื่อฯ รายการหนึ่งว่าถ้าหากน.ส.แพทองธาร ยอมรับเป็นแคนดิเดตนายกฯอาจถูกมองว่าเป็นการวางยานายเศรษฐา นายภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าคิดไปไกลแบบนั้นมันทำให้คนทะเลาะกัน คนในพรรคเพื่อไทยเขารักกันดีไม่ต้องห่วง อย่าไปตั้งคำถามว่ามีการวางแผน ขอให้คิดบวกอย่าไปคิดลบ
เมื่อถามว่า ดูเหมือนเวลานี้การเลือกแคนดิเดตนายกฯยังไม่ลงตัว จะเลือกใช้วิธีการยุบสภาหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทุกอย่างยังไม่มีอะไรที่จะคิดไปล่วงหน้าทั้งนั้น ขอให้รอการประชุม ครม.และการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยให้เกิดความชัดเจนก่อน และการชี้ขาดคือวันที่ 16 ส.ค.เวลา 10.00 น. จะชัดเจนที่สุดไม่ต้องไปคาดเดาอะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย สรุปผลการประชุม โดยได้เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีวาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 16 ส.ค.นี้
ที่รัฐสภา พรรคภูมิใจไทย นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แถลงว่า พรรคภูมิใจไทยได้มีการประชุมวาระพิเศษในวันนี้ เพื่อให้มีความกระจ่างชัดถึงท่าทีของพรรคภูมิใจไทยต่อการมีส่วนสนับสนุนบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีมติว่า พรรคภูมิใจไทยในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ยินดีสนับสนุนบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งเป็นสิทธิของพรรคเพื่อไทยที่จะเสนอบุคคลที่พรรคเพื่อไทยเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อที่ประชุมสภา
นายอนุทิน กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยขอให้พรรคพี่น้องประชาชนมั่นใจในจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่สนับสนุนพรรคการเมือง หรือไม่สามารถสนับสนุนบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเจตนารมย์ของพรรคภูมิใจไทยตามแถลงการณ์ที่ได้มีไว้เมื่อวันที่ 15 พ.ค.66 และถือว่าเป็นข้อตกลงเดิมของพรรคร่วมรัฐบาล จากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่แล้ว
“เพื่อให้เกิดความชัดเจน พรรคภูมิใจไทยได้พบกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว และทุกพรรคมีความเห็นไปในทางตรงกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนพรรคภูมิใจไทยคงจะขอให้มีการจัดการแถลงร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาล ให้พรรคแกนนำอย่างพรรคเพื่อไทยยืนยันจุดยืนร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกคน ในโอกาสแรกที่จะสามารถทำได้”
ส่วน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกฯว่า พรรครวมไทยสร้างชาติได้มีมติที่จะสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล และยังยืนยันหลักการเดิมว่า ไม่มีการเกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 และคาดหวังว่า นโยบายต่างๆ ที่ออกมาจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
เมื่อถามว่ามีกระแสว่าจะมีการนำพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ นายพีรพันธ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่มี เพราะท่านได้เป็นองคมนตรีแล้ว อย่าเอาข่าวแบบนี้ไปให้เกิดปัญหากับท่าน ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว และ โดยมารยาทเราได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่ครั้งที่แล้ว โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และโดยมารยาททางการเมืองก็ต้องสนับสนุนผู้ที่เป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย เป็นการทำงานต่อเนื่องจากคราวที่แล้วเท่านั้นเอง แต่จะต้องเข้าร่วมรัฐบาลใหม่ ก็จะต้องแถลงจุดยืนเท่านั้นเอง หลักการก็เหมือนเดิม ต้องสนับสนุนผู้ที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อมา
เมื่อถามว่าหลายคนกังวลเรื่องการเปลี่ยนโควตารัฐมนตรี ยังเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะกังวลเรื่องการทำงานที่ไม่ต่อเนื่อง นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบทุกอย่างเหมือนเดิม เปลี่ยนแค่ตัวนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีของทุกพรรคยังอยู่เหมือนเดิม ไม่มีปัญหา เราก็ทำงานต่อเนื่อง และทุกพรรคก็ทำงานต่อเนื่อง พรรครวมไทยสร้างชาติก็พอใจการทำงานที่ผ่านมา ในการทำหน้าที่เดิมและพยายามทำให้หนักกว่าเดิมเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่ง 4 กระทรวงที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะส่วนตัวที่รับผิดชอบกระทรวงพลังงาน ก็จะพยายามเดินหน้าต่อในสิ่งที่เป็นปัญหาของประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกันที่มีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ ในเรื่องของการพัฒนาประเทศและนักลงทุนด้านต่างๆ ส่วนกระทรวงการคลังก็จะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด
เมื่อถามถึงการหารือที่บ้านจันทร์สองหล้า นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ก็เป็นการหารือกันในลักษณะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้มีการตกลงเรื่องใดเป็นพิเศษ
เมื่อถามว่าส่วนที่มีข้อกังวลเรื่องสุขภาพของนายชัยเกษม นิติสิริ นั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ และตามที่เป็นข่าว พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมกันอีกที โดยมารยาท พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องให้เกียรติพรรคหลัก ส่วนปัญหาต่างๆเป็นเรื่องพรรคหลักที่จะต้องพิจารณา ไม่ใช่พรรคเรา
เมื่อถามว่ามีข้อตกลงเรื่องนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลได้หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่มี ก็คงเหมือนเดิม แต่นโยบายหลักก็คงเหมือนเดิม และไม่ยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 112 ส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาทุจริต
เมื่อถามว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต พรรคเพื่อไทยยังคงเดินหน้าหน้าต่อ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่าเรื่องนี้ต้องถามพรรคเพื่อไทยเพราะที่ผ่านมาก็มีประเด็นที่สำคัญที่พรรครวมไทยสร้างชาติยังเป็นกังวล คือเรื่องของความด้วยกฎหมาย และได้รับคำตอบจากกฤษฎีกาหมดแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้พรรคเพื่อไทยเป็นคนยืนยัน
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และรักษาการ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และรักษาการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และสส.ของพรรคพลังประชารัฐ ร่วมแถลงจุดยืนต่อกรณีการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ โดยนายสันติ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อแสดงจุดยืนแนวทางการร่วมรัฐบาลต่อในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ดังนี้ 1.พรรคพลังประชารัฐยังสนับสนุนบุคคลในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้
2.พรรคพลังประชารัฐยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เทิดทูนและธำรงซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พรรคพลังประชารัฐยังคงมีจุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่จะไม่ร่วมกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 3.พรรคพลังประชารัฐ ยึดมั่นในนโยบายที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดการส่งเสริมความปรองดองของคนในชาติ ให้มีความสามัคคี เพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ในเรื่องเศรษฐกิจ และความเท่าเทียม รวมถึงจะพัฒนาประเทศชาติของเราต่อไปให้มีความเข้มแข็ง
เมื่อถามว่าได้มีการพูดคุยกับพล.อ.ประวิตร เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ นายสันติ กล่าวว่า ได้เรียนพล.อ.ประวิตรเรียบร้อยแล้ว และท่านเองได้มอบหมายให้ตนมาชี้แจงร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส
เมื่อถามว่าพล.อ.ประวิตร พร้อมจะยกมือโหวตด้วยตัวเองหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับหัวหน้าพรรคแล้ว ก็มีมติชัดเจนตามที่ได้แถลงข่าวไป ยืนยันเราสนับสนุนบุคคลใดก็ตามที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ และสิ่งสำคัญที่เราจะต้องยึดมั่นในนโยบาย ส่วนหัวหน้าพรรคจะมาร่วมโหวตด้วยหรือไม่นั้น ตนจะกลับไปหารืออีกครั้ง
เมื่อถามว่าตำแหน่งรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลยังเหมือนเดิมหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า รัฐมนตรีเรามี 4 โควต้าตามเหมือนเดิม ขอยืนยันว่าทุกอย่างภายหลังจากได้นายกรัฐมนตรีแล้ว ตนและนายสันติ จะมีการดำเนินการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อใคร เพราะมี 2 คน แต่พร้อมสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นคนใดก็ตาม
เมื่อถามว่านโยบายในอนาคตจะมีการทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า นโยบายพรรคพลังประชารัฐชัดเจนว่า เราจะให้เกียรติและร่วมมือกันตัดสินใจ ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนั้น หลังจากที่คุยกันอย่างไม่เป็นทางการ พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้แถลงอีกครั้งในเรื่องนี้
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้เร่งส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาให้พิจารณาวินิจฉัยว่าผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.จะเป็นเหตุให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) หรือไม่ โดยได้แนบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฟื้นหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทางคณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป
นายเรืองไกร กล่าวว่า ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพัน ป.ป.ช. ด้วย จึงมีความจำเป็นต้องขอให้ ป.ป.ช. คัดสำเนาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งเอกสาร เพื่อใช้เป็นสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เพื่อเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้ การยื่นร้องกรณีของนายเศรษฐา ไปที่ ป.ป.ช. เนื่องจากเห็นว่าหากในเวลาต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยตามศาลรัฐธรรมนูญก็จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดไปด้วยและตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้มีรัฐมนตรีอีกหลายคนที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป