วันที่ 15 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา นายรักชาติ  กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา เปิดการประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ 2 ประจำปี 2567 ซึ่งมีระเบียบวาระทั้งสิ้น 4 วาระ โดยมีนางยลดา  หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.พร้อม รองนายก และสมาชิกสภา (ส.อบจ.) นครราชสีมา จำนวน 44 คน จากทั้งหมด 48 คน รวมทั้งหัวหน้าส่วน ข้าราชการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

ซึ่งในระเบียบวาระที่ 3.7 เรื่องพิจารณา นางยลดา นายก อบจ.นครราชสีมา เสนอญัตติขอความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ อบจ.นครราชสีมา เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ชี้แจงสถานะการคลัง เงินฝากธนาคาร 4,908,839,833 บาท เงินสะสม 5,628,551,530 บาท รายการกันเงินไว้แบบก่อหนี้ผูกพันและยังไม่ได้เบิกจ่าย 162 โครงการ รวม 125,355,590 บาท รายการกันเงินไว้โดยไม่ได้ก่อหนี้ผูกพัน 222 โครงการ รวม 613,583,236 บาท เงินกู้คงค้าง 24,805,800 บาท การบริหารงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 รายจ่ายประจำปี 4,094,110,000 บาท ประกอบด้วย รายจ่ายทั่วไป จ่ายจากรายได้จัดเก็บเอง หมวดภาษีจัดสรรและหมวดอุดหนุน 4,092,900,000 บาท แยกรายอะเอียดตามแผนงานดังนี้ แผนงานบริหารงานทั่วไป 595,626,400 บาท แผนงานรักษาความสงบภายใน 5,457,200 บาท ด้านบริการชุมนุมและสังคม 1,691,488,710 บาท แผนงานสาธารณสุข 593,419,800 บาท

ขณะที่ แผนงานสังคมสงเคราะห์มี 59,600,200 บาท แผนงานเคหะและชุมชน 29,915,945 บาท แผนงานสร้าวความเข้มแข็งของชุมชน 15,063,200 บาท แผนงานการศาสนา วัฒนธรรมและนันทนาการ 68,728,300 บาท ด้านการเศรษฐกิจ แผนงานอุตสาหกรรมและการโยธา 506,491,395 บาท แผนงานการเกษตร 8,680,000 บาท ด้านการดำเนินงานอื่นๆ แผนงบกลาง 518,427,850 บาท เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายของฝ่ายบริหารและแผนพัฒนาท้องถิ่น โดย ส.อบจ.นครราชสีมา ได้ยกมือเห็นชอบวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ 40 คน งดออกเสียง 4  คน ถือเป็นงบบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากที่สุดในภูมิภาค 

ด้าน นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ. กล่าวว่า อบจ.นครราชสีมา เป็น อปท.ขนาดใหญ่ ดูแลพื้นที่ 20,493 ตารางกิโลเมตร ประชากรกว่า 3 ล้านคน ฝ่ายบริหารและสภาได้พิจารณาจัดสรรงบพัฒนาท้องถิ่นให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกกิจกรรม ขอบคุณ ส.อบจ.เห็นชอบรับหลักการและช่วยสอดส่องดูแลติดตามข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งยังมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ทั้งนี้ อบจ.นครราชสีมา โฉมใหม่ได้เร่งสำรวจพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ถนน แหล่งน้ำ สิ่งก่อสร้าง โดนเฉพาะภารกิจดูแลรับผิดชอบถนน 199 สายทาง การบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมในสังกัดจำนวน 58 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนภารกิจ 182 แห่ง ให้มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด