ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

เราต้องการคำตอบในชีวิตจริงหละหรือ หรือแค่เอาชีวิตให้อยู่ได้ไปในทุก ๆ วันก็พอใจแล้ว

ผมพบกับกนิษฐาในคราวที่ไปเยี่ยม “กลุ่มลูกศิษย์” ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดชายทะเลภาคตะวันออก วัดนี้ตั้งอยู่บนเขา ใช้เวลาเดินทางขึ้นไปจากตัวเมืองประมาณ 1 ชั่วโมง ตัววัดอยู่ท่ามกลางป่าไม้แน่นทึบ ถึงด้านหน้าทางเข้าวัดแล้วก็ยังมองไม่เห็นอะไร แม้จะเข้าไปให้ถึงศาลาไม้ขนาดใหญ่ด้านหน้าที่ไว้ต้อนรับผู้มาเยือน ก็ยังต้องเดินลอดร่มไม้เข้าไป มีโบสถ์ขนาดเล็กสีขาวเรียบ ๆ หลังคาอิฐสีแดง ๆ อยู่ถัดไป กับเจดีย์องค์ย่อมสีขาวเรียบ ๆ เช่นกัน จากนั้นเมื่อทะลุไปด้านหลังจึงจะเป็นเขตสังฆาวาส มีกุฏิพระเป็นเรือนแถว 5 - 6 หลัง ๆ ละ 8  - 10 ห้อง มีพระจำพรรษาอยู่ตลอด รวมแล้วเกือบ 50 รูป ผ่านป่าทึบลงเขาไปด้านทิศตะวันออกประมาณ 300 เมตร จึงเป็นเรือนแถวก่อด้วยไม้ 2 ชั้นหลังใหญ่ 2 หลัง มีศาลาโถงอยู่กลางลาน ที่นี่คือที่ของพวกอุบาสิกาที่มา “เล่าเรียนและใช้ชีวิต” ที่เป็นเด็กสาวก็จะเรียกว่า “สามเณรี” กลุ่มนี้จะมีจำนวนมากที่สุดเกือบ 100 คน กับที่มีอายุขึ้นมาจนถึงคนชราส่วนหนึ่งก็คือ “แม่ชี” อีกส่วนหนึ่งก็เป็นอุบาสิกาทั่วไป กลุ่มนี้ก็มีจำนวน 70 - 80 คน ที่มาอาศัยอยู่ด้วยกัน ซึ่งกนิษฐาก็มาอยู่รวมกับคนกลุ่มหลังนี้

สามเณรีเหล่านี้ส่วนใหญ่จะศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)พอจบแล้วจำนวนหนึ่งก็จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเปิด อย่างที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนี้ด้วยแห่งหนึ่ง ตอนนั้นผมเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ได้ไป “นิเทศการสอน” หรืออบรมแนะนำบุคลากรที่ช่วยดูแลการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย จึงได้พบกับกนิษฐาที่เพิ่งเกษียณราชการมาไม่นาน ที่มาอาสาทำหน้าที่ผู้ประสานงานให้กับมหาวิทยาลัย ต่อมาจึงรู้ว่าเธอเคยเป็นถึงข้าราชการระดับ 10 ในกระทรวงแห่งหนึ่ง  ผมจึงให้ความสนใจเธอมากเป็นพิเศษ และได้ใช้เวลาคุยกับเธออยู่เสมอในช่วงที่ขึ้นไปนิเทศการสอนอยู่หลายวันนั้น

จากที่คุยกันมาถึงเรื่องที่เธอ “อกหัก” ในตอนสาว ๆ เมื่อเข้ารับราชการใหม่ ๆ แต่เธอก็ไม่รู้ตัวเพราะคิดว่าเป็นแค่ “เอาชนะใจ” ผู้ชายไม่ได้ แล้วเธอก็ไปเข้าวัดแห่งหนึ่งที่ภาคอิสาน แต่กลับถูกหลวงพ่อเทศนา “ตำหนิ” ต่อว่าต่าง ๆ นานา โดยอ้างเรื่องบุญกรรมและทุกขเวทนาต่าง ๆ เธอก็ไม่พอใจ และตั้งใจว่าถ้าเกิดเรื่องทุกข์ใจหรือต้องการจะให้ใครช่วยแก้ปัญหาอะไรในชีวิตอีก เธอจะไม่ไปขอความช่วยเหลืออะไรเหล่านั้นจากพระสงฆ์ใด ๆ ที่ในวัด ซึ่งเธอก็ประสบความสำเร็จในความตั้งใจมั่นดังกล่าวนั้น เพราะนอกจากเธอจำเป็นจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาของที่ทำงานเป็นประจำตามประเพณีแล้ว เธอก็ไม่เคยย่างกรายเข้าวัดไหน ๆ โดยลำพังเลย ซึ่งผมก็ได้ถามเธอว่า แล้วทำไมพอเกษียณแล้วจึงเข้ามาอาศัยอยู่ที่วัดนี้หละ และคำตอบของเธอก็ทำให้ผม “ตกใจ” ในตอนแรก แต่เมื่อเธออธิบายโดยละเอียดแล้วจึงสบายใจขึ้นได้

หลังจากการอกหักครั้งแรกและครั้งเดียวนั้น เธอก็ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะไม่คิดที่จะไปรักไปชอบผู้ชายคนใดอีก เธอเติบโตก้าวหน้าในราชการมาด้วยดี ส่วนหนึ่งก็เป็นด้วยการสร้าง “พลังบวก” ที่จะเอาชนะผู้ชายให้เธอนั้นเหนือกว่าอยู่เสมอ เธอมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นผู้ชายมากมาย และเธอก็ชอบใช้งานลูกน้องผู้ชายมากกว่าลูกน้องผู้หญิง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผู้ชายดูจะประจบประแจงเก่งกว่า ซึ่งก็เป็นเพราะหวังจะให้เธอชอบพอหรือมีใจให้นั้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเธอก็จับได้ว่าผู้ชายนั้นมักจะมองผู้หญิง “อ่อนแอ” กว่าเสมอ แม้ผู้หญิงคนนั้นจะเป็นนายหรือผู้บังคับบัญชาของเขาก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังพบว่าในระบบราชการ การแข่งขันระหว่างผู้หญิงด้วยกัน มีความ “ดุเดือด” รุนแรงกว่าการแข่งขันกับผู้ชาย เธอจึงเลี่ยงที่จะเข้าปะทะกับพวกผู้หญิง และหันมาใช้พวกผู้ชายนั่นแหละเป็นเกราะกำบัง ปกป้องเธอให้พ้นจากแรงประทะที่พวกผู้หญิงที่เป็นคู่แข่งถาโถมเข้ามา ซึ่งเป็นวิธีการที่เธอค้นพบด้วยตัวของเธอเอง แต่ก็คิดว่าอาจจะเป็นวิธีการที่ไม่น่าจะ “ถูกต้องดีงาม” เพราะส่วนหนึ่งก็คือทำให้ทุกคนระแวงกันและกัน จนอาจจะเกิดแตกความสามัคคีในองค์กร แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เธอคิดว่ามันคือ “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่งของระบบราชการไทย

พอเธอเกษียณออกมา เธอใช้เวลาท่องเที่ยวไปในประเทศต่าง ๆ อยู่เกือบปี หลาย ๆ ประเทศเธออาจจะเคยไปในตอนที่รับราชการนั้นอยู่แล้ว แต่ก็ไปแบบ “โฉบเฉี่ยว” หรือไม่ได้ดูให้ละเอียดหรือเกิดความประทับใจลึกซึ้ง จึงมีสัญญาใจคิดไว้ว่าถ้ามีโอกาสจะมาเที่ยวให้จริงจัง แล้วเธอก็ออกเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ นั้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือน รวม 10 กว่าประเทศ แต่ว่าสิ่งที่เธอได้มาไม่ใช่ความประทับใจในความสวยงามของสถานที่ต่าง ๆ ที่ไปพบเห็น ทว่ากลายเป็น “ความหดหู่ใจ” ถึงชีวิตของผู้คนในประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะ “คนแก่” ที่ต้องอยู่ตามลำพัง และที่น่าสงสารมาก ๆ ก็คือ การที่คนแก่เหล่านั้นต้องต่อสู้ชีวิตอย่าง “แสนสาหัส” แม้จะมีฐานะดีมาก ๆ ก็ตาม

ครั้งสุดท้ายเธอไปเที่ยวที่สกอตแลนด์ ในเมืองชนบทบนภูเขาริมทะเลสาบที่มีชื่อเสียงของที่นั่น ไกด์พาไปเที่ยวที่บ้านโบราณที่ก่อด้วยหินสวยงาม พอดูรอบบ้านเสร็จก็มาเจอเจ้าของบ้าน เป็นผู้หญิงผอม ๆ อายุน่าจะเกือบ ๆ 80 ปี ถามอะไรก็ไม่พูด ทั้งยังหน้างออยู่ตลอด เมื่อขึ้นรถเธอจึงถามไกด์ว่า ทำไมคนแถวนี้ไม่ค่อยเป็นมิตรเลย  ไกด์ตอบว่าคนแถวนี้กลัวนักท่องเที่ยว กลัวว่าจะมาแย่งงาน แย่งที่อยู่ เพราะบ้านโบราณแถวนั้นถูกพวกคนมีเงินจากที่อื่นมาซื้อไว้หลายหลัง แล้วเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมด ทั้งยังเอาแรงงานจากที่อื่นมาทำงาน หลายคนยังหวงบ้าน แต่หลายคนก็ขายบ้านหนีไป อยู่ไปก็ไม่มีความสุข ลูกทัวร์บ่นเรื่องนี้ทุกคณะ

เธอหยุดเที่ยวอยู่หลายเดือน ระหว่างนั้นก็ลองเข้าอินเทอร์เน็ตหาข้อมูลเรื่องที่พักที่ดูแลคนชรา เพราะเธอตัดสินใจว่าเธอคงจะต้องไปใช้ชีวิตตามลำพังในสถานที่แบบนั้น เธอชอบสถานที่แห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ เป็นลักษณะของบ้านจัดสรรบนเชิงเขา มีบริการลักษณะเป็นศูนย์ดูแลสุขภาพ ร่วมกับการเสริมสร้างพลังใจ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เฉพาะตัวบ้านก็หลายล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพกายและใจนั้นอีกเดือนละหลายหมื่น ซึ่งเงินเก็บกับเงินบำนาญของเธอนั้นคงจะไม่เพียงพอ ที่สุดเธอก็มาเจอสถานที่นี้โดยบังเอิญ เมื่อเธอได้ดูสารคดีของกรมการศึกษานอกโรงเรียน จึงทำให้เธอได้มองเห็นว่าที่นี่มีสิ่งที่เธอต้องการ “ซ่อนไว้ภายใน”

เธอเดินทางมาที่วัดด้วยตัวของเธอเอง หลังจากที่พูดคุยกับพระที่ดูแลคนที่มาอาศัยในวัดจนพอใจ เธอก็ตัดสินใจมาอยู่ที่วัดในสัปดาห์ต่อมา แต่ก็ต้องมา “ปรับนิสัย” อยู่ถึง 3 เดือน จนผู้ดูแลวัดเชื่อว่าเธอ “อยู่ได้” ก็ให้เธอเลือกที่จะเป็นแม่ชีหรืออุบาสิกาทั่วไป ซึ่งเธอก็เลือกเป็นอุบาสิกา แต่ก็ต้องนุ่งขาวห่มขาวและถือศีล 10 เหมือนแม่ชี เพียงแต่ไม่ต้องโกนหัว พร้อมกับช่วยทำกิจธุระในวัดนี้เท่าที่จะทำได้ทุกอย่าง เว้นแต่ทำกับข้าวที่เธอไม่ชำนาญ แต่ก็ต้องคอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบริการกันและกันในหมู่แม่ชีและอุบาสิกา เว้นแต่ไม่ต้องไปดูแลพระและสามเณรี ที่เขาดูแลกันและด้วยคนของเขาเองแยกออกจากไป นอกจากนี้ใครมีความสามารถในการดูแลกันและกันในเรื่องใด โดยเฉพาะในกลุ่มของเธอที่มีคนแก่อยู่มาก เธอก็อาสาที่จะดูด้านสุขภาพพลานามัย ตลอดจนกิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพกายและจิตนั้นอยู่เป็นประจำ จนได้ไปดูแลกิจกรรมด้านการเรียนการสอนของสามเณรี ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอชอบมาก เพราะนั่นก็คือสิ่งที่เธอต้องการสูงสุด “การทำให้คนเอาชนะความโง่” อย่างที่เธอได้เคยเอาชนะความโง่ของตัวเองมาในอดีต

การแก้ปัญหาชีวิตอาจจะต้องมีตนเองเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าได้คนอื่นมาช่วยเหลือบ้างก็น่าจะมีความสุขและแก้ปัญหาได้ดีกว่า

 

 

ขอบคุณภาพจาก https://watmahaeyong.or.th