ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“โลกวันนี้..เหมือนดั่งบังคับให้สรรพชีวิต ต้องเร่งรีบที่จะใช้กายใจสื่อออกไปสู่ด้านนอก ด้วยอาการเร่งรีบ และด้วยอารมณ์ที่ไร้จุดหมายที่จะก้าวไปในวิถีที่ถูกต้องสมบูรณ์
เหตุนี้มิติต่างๆที่เกิดขึ้นเหนือโครงสร้างแห่งการมีชีวิตอยู่ ณ วันนี้ จึงเสมือนเป็นความคลาดเคลื่อน ที่ไม่ปรากฏความแจ้งชัดอะไรนัก..ความเร็วและเร็วที่มากเกินไป..บางครั้งก็อาจทำให้คนเราครองสติไม่อยู่ และ บางครั้งก็ถึงขนาดที่จะลบลืมคุณค่าอันยั่งยืนแท้จริงของการมีชีวิตอยู่ไป..
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม..การควบคุมการเคลื่อนไหวของชีวิต แห่งตัวด้วยมโนสติที่เปี่ยมเต็มไปด้วยการยั้งคิด ..ย่อมมีผลต่อการโอบประคองชีวิตให้ตระหนักรู้ถึง “ความช้า” ว่าสามารถนำพาชีวิตไปสู่จุดหมายได้ดีเพียงไหน?..มันคือสัญญะอันยิ่งใหญ่..ที่สามารถสรุปคำอธิบายบริบทแห่งภาวะอันชวนขบคิดนี้ได้ว่า “..ยังมีอะไรอีกมากมายในชีวิต..นอกเหนือไปจากความรีบเร่ง..ซึ่งนี่คืออุบัติการณ์ ที่จำเป็นจักต้องพิสูจน์และค้นหา..ในชั่วชีวิตของวันนี้..อย่างแท้จริง..!”
นัยแห่งสำนึกคิดข้างต้นคือสาระอันชวนขบคิดและปฏิบัติ จากหนังสือของ “CARL HONORE”.. “IN PRAISE OF SLOW” (เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น)..หนังสือที่ถูกยกย่องว่า..มันไม่ได้เป็นหนังสือกระแส..แต่คือหนังสือที่เป็นต้นธารแห่งกระแส “SLOW LIFE” ทั่วทั้งโลก..นับจาก “SLOW FOO” ในอิตาลี.. “SLOW CITY” ในอเมริกา...การคิดอย่างเนิบช้าในอังกฤษ..ไปจนถึง “SLOW SEX” แบบตันตระ..ทุกๆกรณีเน้นย้ำถึงว่า.. “ถ้าชีวิตเรากำลังเร่งรีบ จนแทบไม่มีเวลาให้กับอาหาร..ครอบครัว คนรัก หรือการพักอ่านหนังสือสักเล่ม..มันก็คือความวุ่นวายอันนำไปสู่ความทุกข์เศร้า..ว่ากันว่า..ยิ่งมีเทคโนโลยีทุ่นเวลามากเท่าไหร่..ชีวิตเรากลับเร่งรีบและสับสนมากเท่านั้น..”
“คาร์ล ออนอเร” ..ได้เน้นย้ำให้มนุษยโลกของวันนี้ได้ประจักษ์ว่า..จริงๆแล้ว..ความเร็วไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีคำแนะนำที่ตายตัวว่า..อะไรคือความเหมาะสม คนแต่ละคน การกระทำแต่ละอย่าง เวลาแต่ละขณะ มีจังหวะของตัวเอง..คนบางคนมีความสุขที่ได้อยู่กับความเร็ว ที่อาจส่งพวกเขาหลายคนให้ลงหลุมไปก่อนเวลาอันควร แต่ทุกคนมีสิทธิเลือกจังหวะชีวิตที่จะทำให้ตนเองมีความสุข.. “โลกเป็นที่ที่มีคุณค่าความหมายมากกว่านี้..พวกเรามีพื้นที่ให้ความเร็วที่แตกต่่างกันไป..” นี่คือคำกล่าวของ “อูเวอ คลีมท์” ..นักเปียโนเตมโป จุสโต..ที่ได้กล่าวไว้อย่างชวนพินิจพิเคราะห์..ในทางกลับกัน..หากจะนำมาเทียบกับ “ขบวนการเนิบช้า” ..ที่ตลอดมาก็ยังต้องพานพบกับอุปสรรคที่น่าเกรงขามพอสมควร..โดยเฉพาะจากแค่อคติของเราก็มีไม่น้อยแล้ว..แม้แต่ในยามที่เราอยากช้าลง..เราก็ยังรู้สึกตึงเครียดด้วยอารมณ์ที่ผสมปนเประหว่างความอยากได้ใคร่มี ความเฉื่อยเนือย..และความกลัวว่าจะตามคนอื่นไม่ทัน..ในโลกที่ความเร็วฝังรากลึก..ดั่งคำเปรียบเทียบที่ว่า.. “เต่ายังต้องทำอะไรอีกเลยอะ..เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ผู้อื่นเชื่อ”
..ณ วันนี้ เรากำลังขับเคลื่อนทั้งโลกและตัวเราเข้าสภาวะแห่งการหมดสภาพ เราทั้งจนเวลาและวิตกกังวลเรื่องเวลา จนละเลยเพื่อน ครอบครัว และ คู่ครอง..เราแทบไม่รู้จักการเสพสุขจากสิ่งต่างๆอีกต่อไปแล้ว..เพราะมัวแต่พะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง..อย่างไรก็ดี..ได้มีผู้วิจารณ์ขบวนการเนิบช้าว่า..เป็นความคิดที่แค่ผ่านมาเดี๋ยวก็ผ่านไป..เป็นปรัชญาชายขอบที่ไม่มีวันเป็นกระแสหลักได้..
แน่นอนว่า..การเรียกร้องให้ลดความเร็ว..ไม่อาจหยุดเร่งความเร็วของโลกที่มีมาตั้งแต่ยุค..ปฏิวัติอุตสาหกรรมได้..และคนจำนวนมากที่อ้าแขนรับความเนิบช้าในทศวรรษ 1960 และ 1970 ก็ใช้เวลาในทศวรรษ 1980..ในการวิ่งไล่ตามผู้อื่นให้ทัน.. แต่..หากเศรษฐกิจโดยรวมของโลก เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ หรือหากธุรกิจดอทคอมบูมขึ้นมาอีกครั้ง.. “เราจะไม่เลิกพูดเรื่องความเร็ว แล้วหันไปกอบโกยเงินกันก่อนหารือ?" ขออย่าได้เพิ่งแน่ใจไปแน่ใจไป..คนรุ่นเรา เริ่มเข้าใจถึงอันตรายและความไร้เหตุผลของการเร่งความเร็วอยู่ตลอดเวลามากกว่าคนรุ่นก่อน และเราก็มีความมุ่งมั่นมากกว่าที่ผ่านมา ที่จะทำให้ลัทธิบูชาความเร็วล่าถอย ...
หากมองด้านประชากรศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของประชากร ก็เข้าข้างการลดความเร็วเช่นเดียวกัน “ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ..และครั้นเมื่อเราแก่ตัวลง..เราย่อมมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน..นั่นคือ..เราจะช้าลง..” ในโลกสมัยใหม่..ที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว..ดูเหมือนว่ารถไฟสายกาลเวลา กำลังเคลื่อนออกจากสถานีเสมอ...ในตอนที่เราเพิ่งไปถึงชานชาลา ไม่ว่าเราจะไปเร็วแค่ไหน ไม่ว่าเราจะจัดตารางเวลาได้ดีเยี่ยมเพียงใด..เวลาในวันหนึ่งก็ยังมีไม่มากพออยู่ดี..
*ชาวยุโรปหัวใหม่ที่เดินตามรอยนักบวชเบเนดิค ..เริ่มใช้ตารางงานประจำวันในการดำรงชีวิตและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.. “เลออน บัตติสตา อัลแบร์ติ” (Leon Batia Alberti)..นักปรัชญา สถาปนิก นักดนตรี จิตรกร และ ประติมากร ชาวอิตาลี ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ..ถือเป็นคนหนึ่งที่มีงานล้นมือ..เพื่อที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด ..เขาเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการเขียนตารางงาน..
“พอผมตื่นขึ้นมาในตอนเช้า..ผมจะถามตัวเองก่อนเลยว่า..วันนี้ผมต้องทำอะไรบ้าง..ผมจะจดรายการสิ่งที่ต้องทำมากมายหลายอย่างนี้ ..แล้วนำมาคิด แล้วก็กำหนดเวลาที่เหมาะสมในการทำ..เป็นต้นว่า..งานนี้ทำเช้านี้ งานนั้นทำตอนบ่าย อีกงานทำตอนกลางคืน..” นี่คือวิธีการที่จะจัดการกับชีวิตให้มีท่วงท่า..ที่มีลำดับและค่อยเป็นการ ตลอดจนมีความค่อยเป็นค่อยไปในชีวิต..
*ในห้วงเวลา..แห่งยุคอุตสาหกรรม..เมื่อโลกขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูง..การจัดตารางเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต..ก่อนถึงยุคจักรกล ไม่มีใครเคลื่อนที่ได้เร็วไปกว่าการควบตะบึงของม้า ..หรือเรือที่กางใบเต็มที่..แต่พลังของเครื่องยนต์ก็ได้เข้ามาเปลี่ยนทุกสิ่งทุุกอย่างไป..เพียงแค่กดสวิตช์ ผู้คน ข้อมูลข่าวสาร และ วัสดุต่างๆ ก็สามารถเดินทางไกลแสนไกล ด้วยความรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน.. ในวันหนึ่งๆ โรงงานสามารถโหมผลิตสินค้าได้มากกว่าที่ช่างฝีมือทำมาทั้งชีวิต...ความเร็วใหม่นี้ ให้ความหวังว่าจะมีทั้งความตื่นเต้นและความมั่งคั่งอย่างคาดไม่ถึง..และผู้คนก็กระตือรือร้นที่จะเชื่อ..
*และเมื่อรถจักรไอน้ำขบวนแรกของโลกได้ออกเดินทางเป็นครั้งแรกใน “ยอร์กเชอร์” (Yorkshire) ประเทศอังกฤษในปีค.ศ.1828..ฝูงชนกว่าสี่หมื่นคน ได้มาร่วมยินดีพร้อมกับการยิงสลุต ยี่สิบเอ็ดนัด..
*ทุนนิยมอุตสาหกรรม..มีความเร็วเป็นตัวหล่อเลี้ยง และได้ผลตอบแทนจากความเร็วอย่างไม่เคยมีและเคยเป็นมาก่อน ธุรกิจที่ผลิตและขนส่งสินค้าได้เร็วกว่า สามารถตัดราคาคู่แข่งได้..ยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนทุนเป็นกำไร..ได้เร็วเท่าไหร่..เราก็ยิ่งจะเอามาลงทุนใหม่ให้ได้กำไรมากไปกว่าเดิมได้เร็วเท่านั้น เหตุนี้...มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คำว่า “to make a first buck” หรือ การหาเงินให้ได้มากหรือเร็ว โดยไม่เกี่ยงว่าจะใช้วิธีไหน..จึงเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 19 นี้เอง..
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในเมือง ไม่ว่าจะเป็นเสียงอันดังขรม..รถยนต์ ฝูงชน..วัฒนธรรมบริโภคนิยม ล้วนเชิญชวนให้รีบร้อน มากกว่าจะผ่อนคลาย..ใครมาครวญ หรือ เข้าหาผู้คน เมืองทำให้เราเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง..ตื่นตลอดเวลา มองหาสิ่งใหม่ๆไม่หยุดหย่อน...แต่ ณ ขณะที่มันทำให้เราตื่นเต้น เรายังจะพบด้วยว่า.. “เมืองทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก .!”
ณ บทสรุปอันเป็นมิติสำคัญของหนังสือเล่มนี้..ผมมองเห็นและตระหนักว่านี่คือบทสะท้อนของนัยสำคัญ..แห่งการก่อกำเนิด และ ความเข้าใจในความเนิบช้าที่เต็มไปด้วยผลลัพธ์ของทั้งความคิดและความรู้สึก..กล่าวคือ..ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มนุษยชาติต่างตั้งตารอ.. “ยุคแห่งการมีเวลาว่าง” โดยมีเครื่องจักรกลเป็นความหวังว่า จะปลดปล่อยให้ทุกคนเป็นอิสระ..จากงานอันน่าเบื่อหน่าย.. ซึ่งก็แน่นอนว่า..เราอาจจำเป็นที่จะต้องเข้ากะทำงาน ที่สำนักงานหรือโรงงานเป็นครั้งคราว เพื่อประจำอยู่หน้าจอ ..หมุนปุ่มปรับนี่นั่น..ต่อโทรศัพท์ หรือเซ็นชื่อในใบส่งของ..ส่วนเวลาที่เหลือรายวัน ก็เตร่ไปเตร่มาหาความสำราญ..
ครั้นเมื่อมีเวลาว่างมากมาย ถ้อยคำจำพวกรีบร้อน หรือ เร่งด่วน..ก็จะหายไปจากภาษาของเราในที่สุด.. “เบนจามิน แฟรงคลิน” เป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่จินตนาการถึงโลกที่ให้เวลาต่อการพักผ่อนหย่อนอารมณ์..เขาได้รับแรงบันดาลใจจากความก้าวหน้าในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1700 จึงทำนายว่า ต่อไปมนุษย์จะทำงานไม่เกินสัปดาห์ละสี่ชั่วโมง แต่ครั้นเมื่อศตวรรษที่ 19 มาถึง..คำทำนายนี้กลับไร้เดียงสาจนดูน่าขัน
*ในโรงงานนรกยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้คนทั้งชายและหญิงหรือแม้แต่เด็กต่างต้องกรำงานหนักถึงวันละสิบห้าชั่วโมง..แต่ถึงกระนั้น..เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 19..ในแวดวงของวัฒนธรรม ก็เริ่มมีการพูดคุยถึงยุคแห่งการหย่อนใจกันอีก “จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์” ..ได้ทำนายว่า เราจะทำงานกันวันละสองชั่วโมง ภายในปี 2000 (ซึ่งมันก็ผ่านไปแล้ว และไม่จริงเลย..)
..ความฝันว่าจะมีเวลาว่าง อย่างไร้ขีดจำกัด ฝังแน่นอยู่ตลอดศตวรรษที่ 20..มนุษย์เดินดินธรรมดาที่เลื่อมใสในความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยี จึงฝันถึงชีวิตที่ได้เจอเขนกอยู่ริมสระว่ายน้ำ..มีหุ่นยนต์คอยรับใช้ ..ไม่ใช่คอยผสมมาร์ตินมีรสเยี่ยมให้เท่านั้น..แต่ยังดูแลเรื่องเงินทองให้ด้วย..
ในปี 1956 “ริชาร์ด นิกสัน” ได้บอกประชาชนอเมริกัน..ให้เตรียมตัวทำงานสัปดาห์ละสี่วัน.. ผ่านมาอีกหนึ่งทศวรรษ อนุกรรมการในวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่งได้ยินมาว่า..ภายในปี 2000 คนอเมริกันจะทำงานสัปดาห์ละแค่ 14 ชั่วโมงเท่านั้น..และ แม้กระทั่งในทศวรรษ 1980...ก็ยังมีผู้ทำนายว่า...หุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์จะทำให้เรามีเวลามากขึ้น..จนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร..(ซึ่งก็ไม่ค่อยจะจริงสักเท่าไหร่นัก..)
ที่สุดแล้ว..คงไม่มีอะไรที่ผิดพลาดไปกว่านี้กระมัง..ในศตวรรษที่ 21 นี้..สิ่งที่เราพอจะแน่ใจได้บ้างก็คือ..อวสานของการทำงานที่ว่ากันนั้น..เป็นคำกล่าวที่เกินจริง ทุกวันนี้..ยุคแห่งเวลาว่างมีโอกาสเป็นจริง ได้พอๆกับ สำนักงานไร้กระดาษเท่านั้นเอง.. เราเกือบทุกคน ดูเหมือนจะทำงานเกิน 14 ชั่วโมงต่อวันมากกว่าจะเป็นต่อสัปดาห์ “งานกลืนกินเวลาตื่นส่วนใหญ่ของเราไป เรื่องอื่นๆในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง เซ็กซ์ การนอนหลับ งานอดิเรก และวันหยุดพักผ่อน...ต้องโอนอ่อนผ่อนตาม.. “ตารางงานผู้ยิ่งใหญ่”...สืบไป!!
“ท่านพระไพศาล วิสาโล” ปราชญ์คนสำคัญของแผ่นดิน..ได้ให้ข้อคิดที่กินใจต่อสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ว่า.. “..ยิ่งมีเทคโนโลยีทุ่นเวลามากเท่าไหร่..ชีวิตเรากลับเร่งรีบและวุ่นวายมากขึ้นเท่านั้น..การมีสิ่งเสพ สิ่งบริโภคมากมาย แม้จะช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ..แต่ก็ทำให้เรามีเวลาว่างน้อยลง..เพราะเสียเวลาไม่ใช่น้อยไปกับสิ่งเหล่านี้ ..
“เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น”..ได้กระตุกให้เราเฉลียวใจ ..ก่อนที่จะปล่อยชีวิตให้พลัดหลงไปในกระแสแห่งความรีบเร่งอย่างไร้สติ..หนังสือเล่มนี้ชี้ว่า..เราสามารถกำหนดจังหวะชีวิตของเราได้...แม้รอบตัวจะเต็มไปด้วยความโกลาหล..วุ่นวายก็ตาม..
“กรรณิการ์ พรมเสาร์” นักแปลอาวุโส..ผู้หยั่งเห็น และสงบงามแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาด้วยใจความและบริบททางปัญญาที่ทรงคุณค่า..มันคือวิถีในวิถีที่ยืนยันถึงว่า “วิธีคลายเครียดที่ได้ผลรวดเร็วทันใจ..คือพยายามทำตัวให้ช้าลง..” การบ่งบอกถึงคุณประโยชน์ของความช้าในชีวิต...คือผลตอบแทนอันเฟื่องฟูและงอกงาม ที่ชีวิตได้เฝ้าสังเกตเห็นตัวตนด้านลึกของตนอย่างเจิดกระจ่างและถ่องแท้ คือ..ความพึงพอใจแห่งชีวิตของชีวิตที่ไร้ขอบเขตและกาลเวลา..เป็นความพิสุทธิ์สู่ความเข้าใจในปมปริศนาแห่งชีวิตเบื้องหน้า..หรือห้วงขณะใดก็ตามอย่างรู้เท่าทัน...!
“ขบวนการเนิบช้า...กำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง..ไม่มีสำนักงานใหญ่หรือเว็บไซต์ ไม่มีใครเป็นผู้นำเพียงคนเดียว..ไม่มีพรรคการเมืองไหนเป็นปากเป็นเสียงให้..คนจำนวนมากตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตให้ช้าลงเอง โดยไม่เคยรู้เลยว่า..เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนี้ ..ด้วยซ้ำไป.. !”