ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน และอิสราเอล จนทำให้เกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และหลายภาคส่วนของโลก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั้งในสหรัฐฯ และในยุโรป ตลอดจนทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นทั่วโลก
ในขณะเดียวกันก็เกิดเหตุยูเครนส่งทหารบุกเข้าไปในแคว้นเคิร์สก์ของรัสเซีย ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการโจมตีเมืองเคียฟอย่างรุนแรง พร้อมๆกับปิดล้อมบดขยี้กองกำลังที่ไปบุกเคิร์สก์ และยังคุกคามในความพยายามที่จะก่อวินาศกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่แคว้นเคิร์สอีกด้วย
ด้านอิหร่าน-อิสราเอล ก็ต้องยอมรับว่าเบนจามิน เนทันยาฮู ก่อการอุกอาจด้วยการส่งคนไปลอบสังหารผู้นำฮามาส นายฮิสมาเอล ฮานิเยห์ ที่เป็นแขกรัฐบาลอิหร่านในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายเปเซสกิยอน โดยการกระทำดังกล่าวอิสราเอลมุ่งหมายที่จะไปกระตุ้นอิหร่านให้ลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างรุนแรงกับอิสราเอล เพราะประเมินไว้แล้วว่าสหรัฐฯ ต้องลุกขึ้นมาปกป้องตน และเข้าร่วมในสงครามกับอิหร่าน ซึ่งก็เป็นไปตามคาด
เพราะทันทีที่อิหร่านประกาศที่จะใช้สิทธิในการโจมตีตอบโต้ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐฯก็เคลื่อนกำลังกองเรือเข้ามายังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และส่งกำลังภาคพื้นดินหลายพันคนเข้ามาในตะวันออกกลาง พร้อมๆกับกองกำลังทางอากาศ โดยเฉพาะแรปเตอร์ F-220 ที่ลงจอดในฐานทัพของตนในตะวันออกกลาง
ในขณะเดียวกันทางด้านอิหร่านก็มีการเตรียมการทั้งการปกป้องตนเอง เพราะกลัวอิสราเอลจะลอบโจมตีก่อน (Preemptive Strike) ทั้งนี้รัสเซียก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนพันธมิตรของตน ด้วยการจัดส่งอาวุธและระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ เช่น S-300 และ S-400 ระบบก่อกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
เท่านั้นยังไม่พอ รัสเซียยังส่งรัฐมนตรีซอยกู อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ปัจจุบันคือรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง ไปเยือนเตหะรานโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะโน้มน้าวให้เตหะรานตอบโต้อย่างมีขอบเขตจำกัด แต่ไม่ได้ห้ามปรามสิทธิในการตอบโต้ของอิหร่าน
ทั้งนี้คาดว่ารัสเซียคงต้องการส่งสัญญาณให้ทางสหรัฐฯได้เข้าใจว่า รัสเซียไม่ประสงค์จะเผชิญหน้ากับสหรัฐฯในสงครามตะวันออกกลาง โดยรัสเซียพยายามจำกัดขอบเขตการโจมตีของอิหร่านและพันธมิตร ซึ่งรัสเซียคาดหวังว่าสหรัฐฯคงไม่ขยายเขตของสงครามด้วยการเข้ามาโจมตีอิหร่าน ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซีย
เหตุการณ์นี้จึงพอจะสรุปได้ว่าสหรัฐฯและรัสเซียไม่ประสงค์จะเผชิญหน้ากันโดยตรง แต่จะปล่อยให้เป็นรูปของสงครามตัวแทน
ในทางตรงข้ามสงครามยูเครน-รัสเซีย สหรัฐฯก็ระมัดระวังในการออกหน้าช่วยยูเครนในการทำสงครามโดยตรง โดยเฉพาะการจะส่งกำลังไปสนับสนุนยูเครนในการส่งกองกำลังเข้าไปโจมตีรัสเซีย
ทั้งนี้สหรัฐฯ เลือกส่งทหารรับจ้างจากจอร์เจีย โปแลนด์ หรือแม้แต่อิสราเอลเข้าไปสนับสนุน โดยที่สหรัฐฯก็มิได้ต้องการเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง
ในเอเชียใต้ก็มีเหตุการณ์ที่หน้าสนใจ นั่นคือการปฏิวัติสีที่เกิดจากการประท้วงของนักศึกษาในเรื่องระบบการจ้างงานที่ให้โควตาพิเศษกับกลุ่มชนที่สนับสนุนรัฐบาล เกิดการปราบปรามและบานปลาย เป็นการประท้วงที่มีประชาชนร่วม และนายกรัฐมนตรีเชคฮาซินาต้องลาออกและลี้ภัยไปอินเดีย
เบื้องหลังการประท้วงมีข่าวไม่เป็นทางการว่าสหรัฐฯสนับสนุน ซึ่งก็มีเหตุผลสนับสนุน คือ ในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตั้งของบังกลาเทศนั้นเป็นจุดสำคัญที่ทั้งสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และอินเดีย ต่างก็ต้องการมีอิทธิพลทางทหาร ทั้งนี้สหรัฐฯต้องการตั้งฐานทัพเรือที่นั่น เพื่อคานกับการที่จีน จัดตั้งท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ และรัสเซียมีแผนตั้งฐานทัพเรือ ที่รัฐยะไข่ เมียนมา
ฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ในบังกลาเทศ จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญของสหรัฐฯ ในการป้องปรามจีน-รัสเซีย และอินเดีย ไปในคราวเดียวกัน และฐานทัพเรือนี้ยังจะเป็นกุญแจสำคัญในการตอบโต้ฐานทัพเรือจีน ในศรีลังกาและปากีสถาน
เหตุการณ์ในบังกลาเทศ ภายใต้การนำของดร.ยูบุสจะสงบเรียบร้อยหรือไม่ หากดูเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่ดร.ยูบุส จะโปรสหรัฐฯ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น รัสเซีย จีน และอินเดีย คงไม่อยู่เฉย นั่นก็จะก่อปัญหาภายในของบังคลาเทศที่มีปัญหาความไม่สงบ และปัญหาเศรษฐกิจหนักหน่วงอยู่แล้ว หวังว่าดร.ยูนุส คงเดินหมากที่ชาญฉลาด
ในเมียนมา การสูญเสียเมืองล่าเสี้ยว ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ชายแดน เมียนมา-จีน เป็นเมืองที่จีนมีการลงทุนจำนวนมาก การเสียเมืองนี้ หลังจากเสียเมืองเล่าก่าย ก็ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมา เสียรัฐฉานเหนือ และเหตุที่ทำให้เสียเมืองล่าเสี้ยวก็เพราะจีนสนับสนุนโกกั้งและว้าแดง
ทั้งนี้เพราะจีนต้องการสร้างรัฐกันชนและรัฐอิทธิพลในเมียนมา นอกจากนี้ต้องการขยายอิทธิพลไปตามเส้นทางท่อก๊าซไปถึงรัฐยะไข่ เพื่อป้องกันอิทธิพลตะวันตกจากบังกลาเทศ
ทั้งนี้จีนมองว่ารัฐบาลทหารเมียนมาที่ตนสนับสนุน กำลังเสียศูนย์ในการปกป้องการปกครองของตนในหลายพื้นที่ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเป้าหมายต่อไปของกองกำลังชนเผ่าอาจเป็นมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และศูนย์กลางกำลังที่จะสนับสนุนรัฐบาลเนปิดอว์
ด้านสหรัฐฯ และตะวันตก จึงมุ่งเน้นในการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อขยายอิทธิพลในเมียนมาแข่งกับจีน-รัสเซีย และอินเดีย ด้วยการสร้างสงครามตัวแทน
สุดท้ายตรงนี้ก็คือการไปสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งในช่องแคบมะละกา ระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย และอินโดนีเชีย นั่นคือพื้นที่ในรัฐยะโฮร์ ของมาเลเซีย และพื้นที่ในรัฐอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย ซึ่งจากข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ควรอยู่ในการควบคุมของ 2 รัฐนี้ ไม่ใช่สิงคโปร์ แต่เนื่องจากอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม และชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มอบให้เป็นสิทธิของสิงคโปร์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ถ้าเกิดความขัดแย้งกันตรงนี้รับรองมหาอำนาจทั้ง 2 ค่ายต้องเข้าแทรกแซง แน่นอน เพราะมันเป็นกุญแจสำคัญเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดีย ซึ่งน่าจะกระทบถึงไทยด้วย