Funding Societies แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลแบบครบวงจรสำหรับธุรกิจ SME ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศยุทธศาสตร์ส่งสินเชื่อเพื่อการค้าแบบ B2B ที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันรุก 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ ธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค(FMCG) ผู้รับเหมาโครงการภาครัฐฯ และ ธุรกิจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม หลังเล็งเทรนด์ขาขึ้น มีดีมานด์ดี ศักยภาพในการเติบโตสูง ตั้งเป้าสินเชื่อธุรกิจกลุ่มนี้จะมีอัตราเติบโตที่ 20 % ของพอร์ต คาดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อปล่อยใหม่กว่า 400 ล้านบาท ในช่วง 1 ปีข้างหน้า

นางสาว เอื้ออารีย์ อัจฉริยบุญ Country Head ประจำ Funding Societies ประเทศไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวบ้างในบางช่วง แต่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง Funding Societies ภายใต้การให้บริการของ FS Capital Co., Ltd. ที่เชี่ยวชาญในการให้กู้ยืมโดยตรงแก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงยังคงมองวงจรความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SME ว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดการณ์การเติบโตของพอร์ตสินเชื่อโดยรวมจะอยู่ที่ 30% ซึ่งจะได้รับแรงสนับสนุนร่วมจากการปล่อยสินเชื่อใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ Funding Societies เองที่ตอบโจทย์ความต้องการของ SME ได้ 360 องศา

“SME มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ คิดเป็นกว่า 95% ของธุรกิจทั้งประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า 3.1 ล้านราย  คิดเป็น 35.6 % ของ GDP โดยรวม มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นวัตกรรม การผลิต การดำเนินโครงการต่างๆ และการจัดการสิ่งแวดล้อม แต่มี SME จำนวนมากกว่าครึ่งที่ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จากสถาบันการเงินทั่วไปเนื่องด้วยเหตุผลหลากหลายประการ อาทิ การขาดการเดินบัญชีกับธนาคาร และการต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก และสำหรับ SME ที่เป็นขนาดกลางขึ้นมาและดำเนินธุรกิจมาแล้วระยะเวลาหนึ่งก็อาจจะมีศักยภาพในการเสนอหลักฐานการเดินบัญชีที่เพียงพอ และเสนอหลักทรัพย์ในการค้ำประกันได้เป็นบางส่วนแต่ยังไม่ครอบคลุมจำนวนวงเงินสินเชื่อตามต้องการ และบ่อยครั้งต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อที่ผิดวัตถุประสงค์มาต่อยอดการดำเนินธุรกิจ เช่น สินเชื่อจากบัตรเครดิต หรือ สินเชื่อนอกระบบ ซึ่ง SME รายย่อยมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนดังกล่าวมากกว่า 50% ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่สูง ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตเป็นไปอย่างยากลำบาก Funding Societies เล็งเห็นความสำคัญของ SME ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสในการแข่งขันที่เท่าเทียมแก่ผู้ประกอบการ เราจึงเดินหน้าสนับสนุน SME ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ ให้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อไป  เพื่อให้สามารถคว้าโอกาสในการเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

“เรายังเล็งเห็นความต้องการที่มีความหลากหลายของ SME สินเชื่อเพียงประเภทเดียวจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างครบถ้วน Funding Societies จึงมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปสินเชื่อเพื่อการค้าต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ SME ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งสินเชื่อจาก Funding Societies มาใน 5 รูปแบบได้แก่ สินเชื่อหมุนเวียนจากลูกหนี้การค้า (Invoice Financing) ซึ่ง SME สามารถนำบิลหรือใบแจ้งหนี้มาเปลี่ยนเป็นเงินหมุนเวียนทำงานใหม่ได้โดยไม่ต้องรอเครดิตเทอมจากคู่ค้า สินเชื่อใบสั่งซื้อ (PO Financing) เพื่อจ่ายค่าสินค้าและบริการล่วงหน้าไปยังซัพพลายเออร์ สินเชื่อธุรกิจโครงการ (Project Financing) สำหรับผู้รับเหมาจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐฯและเอกชนในการทำโครงการให้แล้วเสร็จ สินเชื่อระยะสั้น (Business Term Loan) หรือสินเชื่ออเนกประสงค์ และสินเชื่อกลุ่ม Express สำหรับ SME ขนาดเล็กลงมา ซึ่ง SME สามารถยื่นขอสินเชื่อ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเข้ามาที่สาขา ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่ง Funding Societies สามารถให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อ SME ได้ถึง 15 ล้านบาทต่อราย”  

โดยที่ผ่านมา Funding Societies ได้สนับสนุน SME ให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการค้าระยะสั้นในรูปแบบต่างๆใน 5 ตลาดหลัก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดย ณ ปัจจุบันได้ให้สินเชื่อไปแล้วกว่า 1.38 แสนล้านบาท รวมเป็นธุรกรรมมากกว่า 5 ล้านครั้งให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) ทั่วทั้งภูมิภาค สำหรับ SME ที่มีความสนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fundingsocieties.co.th