สศช.ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเผยแพร่ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่มีต่อคนไทย โดยดัชนีดังกล่าวเป็นชุดที่ปรับปรุงขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นการปรับปรุงตั้งแต่นิยาม องค์ประกอบ ตัวชี้วัด และวิธีการคำนวณดัชนี  

นางนภัสชล ทองสมจิตร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเพื่อเผยแพร่ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยหน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 200 คน สศช. ได้ประเมินผลกระทบที่มีต่อคนไทยที่เกิดจากการพัฒนาประเทศในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับต่าง ๆ ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) เป็นต้นมา โดยมีการปรับปรุงดัชนีที่ใช้สำหรับประเมินความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทยในช่วงเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละแผนฯ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงแผนพัฒนาฯ 

โดยการปรับปรุงดัชนีฯ สำหรับใช้ประเมินในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สศช. ได้จัดการประชุมระดมความเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) จำนวน 15 ครั้ง โดยแบ่งออกเป็น 2 รอบ ในรอบแรก จัดขึ้นเพื่อกำหนดกรอบแนวคิด นิยาม องค์ประกอบหลัก องค์ประกอบย่อย และประเด็นชี้วัดของดัชนีฯ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2666 เพื่อกำหนดกรอบแนวคิด นิยาม องค์ประกอบหลัก องค์ประกอบย่อย และประเด็นของแต่ละองค์ประกอบของความอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งจากการประชุมรอบแรกนี้ ได้ข้อสรุปนิยามและองค์ประกอบหลักของความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยทั้งหมด 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) สุขภาวะ 2) สังคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย 3) เศรษฐกิจที่เป็นธรรม 4) ความหลากหลายทางวัฒนธรรม 5) ธรรมาภิบาล และ 6) สภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพและยั่งยืน สำหรับการประชุมระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มในรอบที่สอง จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของตัวชี้วัด เกณฑ์มาตรฐาน วิธีการคำนวณค่าคะแนน และแหล่งข้อมูลของตัวชี้วัดของทั้ง 6 องค์ประกอบ ซึ่งผลสรุปจากการประชุมทั้งสองรอบ ทำให้ได้ข้อสรุปในเรื่องของดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยชุดที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ รวมทั้งได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิเพื่อทำการประเมินผลกระทบตามดัชนีชุดใหม่ที่ได้ปรับปรุงแล้ว 

สำหรับการประชุมเพื่อเผยแพร่ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับดัชนีที่พัฒนาขึ้น รวมทั้งการนำดัชนีที่พัฒนาขึ้นไปปรับใช้ในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งการดำเนินงานในระยะต่อไป จะนำผลที่ได้จากการประชุมไปประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และเผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลกระทบจากการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นประจำทุกปีต่อไป