สทน. ประกาศผลพร้อมมอบรางวัล “Product Champion” อาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังก์ชั่นในพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด คือ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ และจ.ศรีสะเกษ พร้อมเตรียมทีมนักวิจัยลงพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากการฉายรังสีในอาหาร และยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นให้ปลอดภัยและได้มาตรฐานต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า หลังจากที่ สทน. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จัดเวทีให้ความรู้เรื่องการฉายรังสีในอาหาร พร้อมเปิดรับสมัครผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น และอาหารฟังก์ชั่น เข้าร่วมประกวดโครงการ “Product Champion” ขณะนี้ ได้สรุปผลตัดสินทั้ง 3 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยในส่วนของอาหารพื้นถิ่น จ.บุรีรัมย์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คุณพูลทรัพย์ เทพนคร ผลิตภัณฑ์ น้ำพริกกุ้งจ่อม / รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ คุณญาณกร หนูช่อ ผลิตภัณฑ์น้ำพริก ภายใต้แบรนด์ “แม่ลมุล” / รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ คุณมนตรี แสงบุตร ผลิตภัณฑ์ ซูริเกี๊ยวซ่า จ.สุรินทร์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คุณสังข์ โคตรวงษา ผลิตภัณฑ์ ผงปูนาแท้ / รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ คุณปิยภรณ์ ทองเลิศ ผลิตภัณฑ์ น้ำพริกนรกดักแด้ ตรายาย่า /รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ คุณพิภพ มั่งเชียง ผลิตภัณฑ์ แหนมปลา สูตรสวรรค์ จ.ศรีสะเกษ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คุณ ปรางศ์ทราย พิศรักษ์ ผลิตภัณฑ์ เนื้อแท้ โคขุนเสียบไม้ย่าง / รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ คุณสุวรรณ พรมศรี ผลิตภัณฑ์ ปลาดุกร้า/รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ คุณชาญ ทองจันทร์ ผลิตภัณฑ์ ไซรัปน้ำอ้อย
ส่วนกลุ่มอาหารฟังก์ชั่น รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คุณ ไกรยุทธ คงทวี จ.สุรินทร์ ผลิตภัณฑ์ ProEngy อาหารให้พลังงานนักกีฬา / รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ คุณนุชจารี เหล่าเขตกิจ จ.บุรีรัมย์ ผลิตภัณฑ์ “เจลลี่ขนุน” /รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ คุณนันทภัทร วุฒิสุทธิ์ จ.สุรินทร์ ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มข้าวกล้องงอกผสมธัญพืชชนิดผงปรุงสำเร็จ ตรา Nuchy (นุชชี่)
ทั้งนี้ การประกวด“Product Champion” พื้นที่อีสานใต้ มีผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่นสมัครเข้าร่วมทั้งหมด 192 ผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดเลือก ได้รับคำปรึกษาแนะนำเป็นรายผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดความสำเร็จสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 49 ผลิตภัณฑ์ ส่วนอาหารฟังก์ชั่น มีผู้ประกอบการส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวด และสามารถผ่านเกณฑ์พิจารณา จำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งทั้งสองประเภทมีเกณฑ์พิจารณาที่สำคัญ คือ เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ชุมชน และสามารถใช้รังสีในการยกระดับคุณภาพหรือมูลค่า เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้