ส.ป.ก.หนองคาย ส่งเสริมเกษตรกร ต.วังหลวง ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี พร้อมบูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายแปรรูปเป็นสินค้า เสริมรายได้แก่ชุมชน
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีนโยบายการขับเคลื่อนงานที่เชื่อมโยงและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เพื่อพัฒนาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ให้เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินมีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นได้อย่างเหมาะสม และใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีรายได้ที่มั่นคง
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองคาย (ส.ป.ก.หนองคาย) ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย โดยร่วมกับชุมชน ต.วังหลวง จ.หนองคาย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และมีการปลูกข้าวเป็นรายได้หลัก แต่มักประสบปัญหาเรื่องราคาและคุณภาพ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ ซึ่งพบว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพมีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด และเกษตกรในพื้นที่วังหลวงมีศักยภาพที่จะผลิตได้ จึงมีการจัดตั้งกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้น โดยมี ส.ป.ก. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมสนับสนุน
สำหรับแผนการผลิตและพัฒนาผลผลิตที่เน้นให้เกษตรกรมีส่วนร่วม โดยเริ่มจากให้เกษตรกรปลูกข้าวเพื่อผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดีไว้ใช้เอง เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ กข6 กข18 กข12 กข20 กข83 เป็นต้น จนได้รับรองมาตรฐาน GAP แล้ว จึงมีการพัฒนาการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สบู่เค้ก และชาข้าว เป็นต้น นอกจากนั้น ส.ป.ก.ยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์วิจัยข้าว สถานีพัฒนาที่ดิน และสถาบันการศึกษามาให้ความรู้เรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ การผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การทำนาแปลงรวมเรียนรู้ร่วมกัน และให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติ
กลุ่มเกษตรกรพัฒนาผลผลิตจนได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อ สามารถบริหารจัดการกลุ่มและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนจดทะเบียนเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลวังหลวง” มีสมาชิก 61 ราย และทำแบรนด์เมล็ดพันธุ์ข้าว “วังหลวง” ต่อมาได้พัฒนาเป็นเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่า และสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงการตลาด นอกจากนั้นต้นทุนการผลิตยังลดลงจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยตนเอง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตที่หลากหลาย เช่น พื้นที่ปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าว 120 ไร่ ผลผลิตประมาณ 36 ตัน เป็นเงิน 900,000 บาท/ปี ปลูกข้าวอินทรีย์ 225 ไร่ ผลผลิตประมาณ 60 ตัน เป็นเงิน 1,800,000 บาท/ปี และปลูกข้าวทั่วไป 286 ไร่ ผลผลิต 93 ตัน เป็นเงิน 1,026,000 บาท/ปี ทั้งยังมีรายได้จากการการแปรรูปข้าว ประมาณ 10,000 บาท/เดือน และมีทุนหมุนเวียนในกลุ่มประมาณ 843,557 บาท
เมื่อกลุ่มเกษตรกรมีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังนำแนวคิดการบริหารงานแบบใหม่มาใช้ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการประชาสัมพันธ์กลุ่มและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้เกษตรกรในกลุ่มก็ยังคงดำเนินกิจกรรมนากลุ่มอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน