วันที่ 14 ส.ค.67 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางดำเนินงานด้านทุจริตตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า ที่ผ่านมามีกระแสวิจารณ์ว่าผู้ว่าฯกทม.ไม่เอาจริงเรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริตภายใน กทม. จึงอยากสื่อสารให้เข้าใจว่า ภายใต้นโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. มีการดำเนินงานด้านนี้ในหลายมิติ ทั้งในภาพที่คนรับรู้และไม่รับรู้ โดยเฉพาะการประชุมหน่วยงานภายในต่าง ๆ มีการเน้นย้ำผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานเรื่องนี้อยู่เสมอ ในส่วนการดำเนินการด้านระบบ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเรื่องงบประมาณโดยตรง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านจากหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น เพื่อร่วมตรวจสอบการใช้งบประมาณ กทม.

 

ในส่วนกลางน้ำ มีการกำหนดนโยบายโอเพ่นดาต้า หรือการเปิดเผยข้อมูลโครงการ และการใช้งบประมาณต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ data.bangkok.go.th และอยู่ระหว่างขอความร่วมมือจากกรมบัญชีกลาง เพื่อขอข้อมูลการใช้งบประมาณโครงการต่าง ๆ ของ กทม. มาเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ กทม. ชื่อว่า www.egp.bangkok.go.th ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำเว็บไซต์ คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ รวมถึง ร่วมมือกับเว็บไซต์ www.actai.co ซึ่งเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความโปร่งใส และแหล่งข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

 

ในส่วนปลายน้ำ มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) ซึ่งประชาชนสามารถร้องเรียนด้วยตนเองได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) สำนักงานตั้งอยู่ที่ กองวินัยและเสริมสร้างจริยธรรม สำนักงาน ก.ก. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เลขที่ 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ 0 2224 2963 และ 0 2621 0259 Email : [email protected] และช่องทางร้องเรียนศูนย์รับแจ้งทุกข์กทม. ได้แก่ 1.Traffy Fondue Link https://bkkrongtook.traffy.in.th/ 2.Call Center : 1555 และ 3.Line : ช่องทางการร้องเรียน กองวินัยและเสริมสร้างจริยธรรม สำนักงาน ก.ก. https://shorturl.at/ywyyL จากการจัดตั้ง ศปท.กทม. และเปิดช่องทางร้องเรียนดังกล่าว มีการดำเนินการกับผู้ทุจริตไปแล้วประมาณ 229 ราย ภายในระยะเวลา 2 ปี

 

นอกจากนี้ กทม.มีนโยบายเปิดให้ขอใบอนุญาตก่อสร้างออนไลน์ เพื่อลดการพบกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ป้องกันปัญหาทุจริต ในส่วนช่องทางร้องเรียนปัญหาผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ในแอปพลิเคชั่นไลน์ ประชาชนสามารถเพิ่มเพื่อน Line OA Traffy Fondue โดยพิมพ์ในช่องค้นหาเพื่อนคำว่า @TraffyFondue ทั้งนี้ ในอนาคต กทม.จะจัดทำราคากลางของวัสดุครุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่กรมบัญชีกลางไม่ได้กำหนดราคาไว้ คาดว่าน่าจะเป็นหน่วยงานแรกที่ดำเนินการเรื่องนี้

 

"กระบวนการตรวจสอบเอาผิดต่าง ๆ หลายคนบอกว่าให้ออกเลย ไล่ออกเลย แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการ รอบคอบ คำว่ารอบคอบต้องไม่มีการบวกเรื่องเวลา ไม่มีการยืดเวลา จะเท่ากับมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าไม่รอบคอบ คนที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบมีสิทธิ์โดนฟ้องกลับได้ หรือไม่สามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากข้อมูลไม่ครบถ้วน ขอย้ำว่าผู้ว่าฯกทม.เอาจริงกับเรื่องทุจริต แต่คงไม่มีเวลามาพูดออกสื่อทั้งหมด บางส่วนอาจพูดไม่ได้ เพราะการบริหารงานต้องใช้ทั้งไม้เรียวและไม้นวม ขอให้ดูที่ผลลัพธ์" โฆษก กทม.กล่าว